อ่วมอรทัยไปกับเสียงก่นประณามเรื่องความผิดพลาดในเหล่าทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ชนิดที่แทบไม่เว้นแต่ละวัน จากคนโน้น เดี๋ยวคนนี้ พาชีวีให้วุ่นวายกันไปหมด พูดตามโหราศาสตร์ไทย ก็ต้องบอกว่า หรือเพราะ “หินะ” ตกที่ “ทาสา-ทาสี” กันหรือนั่น? จึงพลันให้โทษบดขยี้ “เจ้าชะตา” ให้มีแต่บริวารมิสู้ดี สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจอยู่ร่ไป หาบริวารคนไหนที่ดีๆ มิใคร่ได้ ทั้งนี้ เพราะหลังจากก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีของประเทศ ได้เพียงเดือนกว่าๆ ก็ผจญชะตากรรมจากข้อครหาที่บรรดาคณะทำงานในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ หลายหน่วยงาน ประพฤติมิชอบทั้งในส่วนของตัวบทกฎหมายมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนก้าวล่วงแห่งจริยธรรมในฐานะฝ่ายบริหารกันไปหลายคน โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง ผลประโยชน์ทับซ้อน และมีปฏิสัมพันธ์อย่างลับๆ กับ “รัสเซีย” ชาติไม้เบื่อไม้เมาคู่ปรปักษ์มาตั้งแต่ครั้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหลักใหญ่ ไล่ไปตั้งแต่กรณีของ “พล.ท.ไมเคิล ฟลินน์” ก็มีอันต้อง “จำระเห็จ” โบกมือลา ออกจากตำแหน่ง “ที่ปรึกษาด้านมั่นคงแห่งชาติ” ของประธานาธิบดีทรัมป์ไป ภายหลังเกิดเรื่องอื้อฉาวตามการเปิดโปงของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ที่ดักฟังมาได้ว่า เขาลักลอบติดต่อกับนายเซอร์เกย์ คิสเลียค เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ แถมยังปกปิด หรือเปิดเผยไม่หมดเกี่ยวกับการลักลอบติดต่อกันข้างต้น เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว โดยมีเนื้อหาสนทนาเรื่องการพยายามผลักดันให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชันต่อรัสเซีย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย “โลแกน แอคท์” ที่ว่าด้วยการห้ามเอกชนเข้ามาก้าวก่ายในนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ตามมาด้วย คณะทำงานระดับ “เจ้ากระทรวง” หรือ “รัฐมนตรี” ที่ปรากฏการเปิดโปงว่า “นายเจฟฟ์ เซสชันส์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรม ลักลอบติดต่อกับ “นายเซอร์เกย์ คิสเลียค” เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ คนเดิม แถมยังพบปะกันถึง 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกรกฎาคม และกันยายน ปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้นนายเซสชันส์ ยังดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก หรือสมาชิกสภาซีเนต แห่งรัฐแอละแบมาอยู่ ก่อนมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลทรัมป์ พบไม่พบเปล่า แต่นายเซสชันส์ผู้นี้ ยัง “ปกปิดข้อมูล” หรือ “บอกไม่หมด” ต่อรัฐสภา หรือสภาคองเกรส ระหว่างที่เขาเข้ารับการไต่ถามเพื่อการรับรองจากสภาคองเกรส ให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายเซสชันส์ ตอบคำถามให้การต่อสภาคองเกรสในครั้งกระนั้นว่า ไม่รู้ไม่เห็นว่าทีมรณรงค์หาเสียงของนายทรัมป์ติดต่อกับทางการของรัสเซียเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความหวั่นเกรงว่า ทางการรัสเซียลักลอบเจาะ หรือแฮ็กระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อันถือว่าเป็นการแทรกแซงแบบข้ามชาติกัน ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทางบรรดาสื่อมวลชนในสหรัฐฯ ไปขุดคุยมาว่า นายเซสชันส์ ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการทางการทหารของสภาซีเนต เปิดห้องทำงานของเขาให้การต้อนรับนายคิสเลียคจริง และมีการพูดเรื่องการทหาร ก็เลยส่งผลให้เกิดเสียงก่นประณามว่า นายเซสชันส์ ตอบคำถามแบบให้การเท็จต่อเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ภายใต้คำสาบานที่ให้ไว้ว่า จะตอบคำถามตรงตามความเป็นจริงทุกประการ ระหว่างเข้ารับการไต่ถามเพื่อรับรองให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พร้อมๆ กันนั้น ก็มีกระแสเรียกร้องให้นายเซสชันส์ ไขก๊อกลาออกจากตำแหน่งเจ้ากระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ไปเสีย จนล่าสุด ทางนายเซสชันส์ ต้องออกมาผ่อนกระแสต่อต้านด้วยการประกาศว่า “ไม่ขอยุ่งเกี่ยว” กับกระบวนการสอบสวนจากคณะกรรมการสอบสวนอิสระ ต่อกรณีเรื่องอื้อฉาวที่คณะทำงานหาเสียงของนายทรัมป์พัวพันกับทางการรัสเซีย พูดง่ายๆ คือ ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ นอกจากนี้ ก็มีกรณีที่ “นายจาเร็ด คุชเนอร์” ในฐานะ “เขยขวัญ” ของนายทรัมป์ และเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของเขา ถูกเปิดโปงว่า ลักลอบพบปะกับนายคิสเลียค เอกอัคราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ เจ้าเก่ากันอีกด้วย โดยบรรดาสื่อมวลชนในนิวยอร์ก เปิดเผยว่า นายคุชเนอร์พบปะกับนายคิสเลียค เป็นเวลานาน 10 นาที ที่อาคาร “ทรัมป์ทาวเวอร์” ในมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก นั่นเอง เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปลายปีที่แล้ว พร้อมๆ กันกับ พล.ท.ฟลินน์ ที่ไปร่วมพบปะกับนายคิสเลียคในเวลานั้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ นอกจากเขยขวัญของนายทรัมป์ และพล.ท.ฟลินน์แล้ว ก็ยังทีมงานหาเสียงคนสำคัญอื่นๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ลักลอบพบปะกับทูตรัสเซียผู้นี้ เช่น นายเจ.ดี กอร์ดอน ได้พบกับนายคิสเลียคถึงในที่ประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน ที่คลีฟแลนด์ เมื่อเดือน ก.ค.กลางปีที่แล้ว ใช่แต่เท่านั้น ล่าสุดก็มีเรื่องอื้อฉาวถึงคนระดับ “รองประธานาธิบดี” ของเขา นั่นคือ “นายไมค์ เพนซ์” ถูกขุดคุ้ยเปิดโปงว่า ใช้ “จดหมายอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “อีเมล์” แบบ “อีเมล์ส่วนตัว” แทนที่จะเป็น “อีเมล์ของทางการ” ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าการรัฐอินดีแอนา” คล้ายๆ กับเรื่องอีเมล์ฉาวของ “นางฮิลลารี คลินตัน” อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ก่อขึ้น เมื่อครั้งที่เธอดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ผลพวงจากเรื้องอื้อฉาวที่บังเกิดอยู่เนืองๆ กับเหล่าบริวารของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ส่งกระทบต่อคะแนนนิยมและความคิดเห็นของประชาชนคนลุงแซม ณ เวลานี้ กันหาน้อยไม่ โดยการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 7 รัฐสำคัญ ได้แก่ เดลาแวร์ ฟลอริดา มิสซูรี มอนทานา โอไฮโอ วิสคอนซิน และเวสต์เวอร์จิเนีย ซึ่งจัดทำขึ้นโดย “คณะกรรมาธิการรณรงค์การเปลี่ยนแปลงเพื่อความก้าวหน้า” หรือ “พีซีซีซี” ระบุว่า จำนวนกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 59 รู้สึกวิตกกังวลต่อคณะรัฐบาลและคณะทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยผลตัวเลขที่ออกมา ก็ทำให้คณะทำงานของพรรครีพับลิกัน ต้องอกสั่นขวัญแขนต่อกระแสความวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ 7 รัฐสำคัญหาน้อยไม่ เพราะนั่นจะมีผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือสภาคองเกรส และสมาชิกวุฒิสภา หรือสภาซีเนต ช่วงกลางเทอม ที่จะมีขึ้นในปีหน้า ให้ต้องค้นหายุทธศาสตร์ เพื่อพลิกฟื้นคะแนนนิยมในเหล่าสมาชิกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพลพรรคให้กลับคืนมากันอีกคำรบ