นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา นำสื่อมวลชนตรวจสอบการบริหารงานศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา หลังมีสื่อบางสำนักนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อน พร้อมชี้แจงถึงความเป็นมาทั้งหลักการและเหตุผล โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ก็เป็นไปอย่างประหยัดตามระเบียบสามารถตรวจสอบได้ เพราะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยพิจารณารายละเอียดอย่างถี่ถ้วนและเกิดผลอย่างคุ้มค่า จนขณะนี้กลายเป็นศูนย์กำจัดขยะที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด สามารถแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม และรองรับปริมาณขยะฯจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันที่ 9 ตุลาคม 2562 ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร โซนที่ 1 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ 336/2 หมู่ที่ 1 บ้านห้วยลึก ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม ดร.กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามดูการบริหารงานการกำจัดขยะมูลฝอยของศูนย์ฯ กำจัดขยะอบจ.พร้อม เปิดเผยและกล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนสำนักหนึ่ง ที่ได้นำเสนอเรื่องการบริหารจัดการและความเป็นมาของศูนย์ฯโดยโปรยหัวว่า “สตง.สอบศูนย์กำจัดขยะ อบจ.ฉะเชิงเทรา 143 ล้าน พบเปิดช่อง TOR เอกชนรับงาน-สร้างเสร็จถนนทรุด กำหนดราคากลางซ้ำซ้อนเกินจำเป็นทำราชการเสียหาย” ซึ่งฟังดูแล้วก็จะเกิดความเข้าใจผิดกันไปใหญ่ จึงขออธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจในข้อเท็จจริงว่า เดิมพื้นที่แห่งนี้มีจำนวน 71 ไร่เศษ เป็นที่ดินสาธารณะที่ถูกทิ้งร้างและมีการลักลอบนำขยะมูลฝอยมาทิ้งจนเพิ่มปริมาณมากขึ้นๆ จนสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและชุมชนโดยรอบ และปี 2548 เกิดเพลิงไหม้กองขยะแห่งนี้ อบจ.ฉะเชิงเทราได้เข้าร่วมแก้ไขช่วยเหลือในการดับเพลิง กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมองการไกลและแก้ปัญหาในระยะยาว จึงประสานมายัง อบจ.ฉะเชิงเทรา ให้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยมีการประชุมพหุภาคีเมื่อปลายปี 2548 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีมติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเจ้าภาพหลักในการตั้งศูนย์กำจัดขยะ จากนั้น อบจ. ได้เริ่มดำเนินการตามขั้นตอน คือได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาดูความเหมาะสม แล้วเสร็จกลางปี 2549 และ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทราดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 – วันที่ 23 มีนาคม 2550 ประชาชนจำนวน 89.70 % เห็นด้วยกับการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแห่งนี้ ปี พ.ศ. 2550 อบจ.ฉะเชิงเทรา ได้ออกแบบพร้อมเสนองบประมาณ จำนวน 480 ล้านบาท ไปยังสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาจำนวน 143 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณขยะในขณะนั้นมีจำนวน 40 ตัน/วัน ปี พ.ศ.2553 ดำเนินการขอใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำนวน 71 ไร่เศษจากกรมที่ดิน และจำเป็นเร่งด่วนเป็นระยะเวลา 5 ปี และอบจ.ฉะเชิงเทราได้รับการขึ้นทะเบียนที่ดินแปลงนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อ 16 มีนาคม 2561 นายก อบจ. กล่าวต่อว่า การเขียนข้อกำหนดเฉพาะงานของโครงการ TOR เป็นการเขียนแบบเปิดกว้างเพื่อให้ผู้เสนอราคาเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและป้องกันการสมยอมในการเสนอราคา โดยไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ในลักษณะต้องมีเครื่องมือ เครื่องจักรหรือต้องแสดงหลักฐานการครอบครองหรือการมีกรรมสิทธิ์ในเครื่องมือ เครื่องจักร โดยถือปฏิบัติตามหนังสือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.0504/ว (ล) 5731 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 มีผู้ยื่นซองเสนอราคา จำนวน 3 ราย คือ 1.บริษัทวรรธน์สรร จำกัด 2.บริษัทกิจการร่วมค้าตั้งต้นดี ควอลิตี้ และ 3.บริษัทแพร่ดำรงวิทย์ จำกัด ผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้า ตั้งต้นดี ควอลิตี้ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปลายปี 2559 ในวงเงินงบประมาณ 143 ล้านบาท แต่บริษัทผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างล่าช้า เกินเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา จึงถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 27.84 ล้านบาท และจากการตรวจประจำปีของ สตง. ได้มีข้อเสนอแนะให้ อบจ.ฉะเชิงเทรา ตัดลดค่างานจำนวน 3.85 ล้านบาท จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ ดำเนินการตามที่ สตง.แนะนำ นอกจากนี้ เมื่อผู้รับจ้าง ส่งมอบงานเรียบร้อย พบว่ามีความบกพร่องเสียหายเกินขึ้น ก็ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างได้ดำเนินการแก้ไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาเรียบร้อยแล้ว โดย ได้เริ่มบริหารจัดการกำจัดขยะ โดยว่าจ้างแรงงานเพื่อคัดแยกขยะ ตั้งแต่ วันที่ 4 มกราคม 2560 ซึ่งมีปริมาณขยะ 40 ตัน/วัน และปัจจุบัน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 45 แห่ง จาก 9 อำเภอร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) นำขยะเข้ามาทิ้งจำนวนมากถึง 150 ตัน/วัน โดยที่ อบจ.ฉะเชิงเทราไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้แต่อย่างใด และยังต้องรับภาระจ่ายเงินเป็นค่าแรงงาน จำนวน 34 คน ในการคัดแยกขยะอีกด้วย “ผมขอยืนยันว่า ทั้งหลายทั้งปวงผมและคณะทำงานได้เล็งเห็นความสำคัญและจำเป็น ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับชุมชน โดยเฉพาะวิถีชีวิตของประชาชน ในการบริหารจัดการสร้างศูนย์กำจัดขยะ ก็ได้ใช้งบประมาณเป็นไปอย่างประหยัด คุ้มค่าและเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และมีความมั่นใจว่าศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรโซนที่ 1 อบจ.ฉะเชิงเทรา จะเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยฯ ที่ใหญ่ที่สุดระดับจังหวัดจังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์กำจัดขยะ ที่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอย ที่จะเกิดขึ้นของการเข้าสู่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ในอนาคตอันใกล้นี้” นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา กล่าวในที่สุด