เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนายสุรเดช สมิเปรม,ปศุสัตว์เขต 1 ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ผู้อำนวยการสำนัก/กอง เลขานุการกรม และคณะเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ณ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ จังหวัดปทุมธานี นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโพดุล และ คากิจิ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ส่งผลให้มีประชาชนและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวน 12 อำเภอ 97 ตำบล 782 หมู่บ้าน มีปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 3 แสนตัว และประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 2 หมื่นคน แม้ว่าหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการให้การช่วยเหลือ โดยมีการอพยพสัตว์และให้การรักษาพยาบาลสัตว์จำนวน 18,643 ตัว แจกถุงยังชีพจำนวน 2,746 ถุง และจ่ายอาหารสัตว์ (หญ้าแห้งและหญ้าหมัก) จำนวน 777,220 กิโลกรัม ซึ่งปรากฏว่ายังไม่มี โค กระบือ และสุกรตายจากอุทกภัยในครั้งนี้ จนสถานการณ์ได้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปแล้ว แต่กรมปศุสัตว์ได้เล็งเห็นว่ามี 7 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานีที่จะต้องให้ความสำคัญในการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์คลี่คลายลง ทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาลสัตว์ การเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาด และการส่งเสริมสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ จึงได้สั่งการให้จัดโครงการหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ขึ้น เพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงภายหลังการเกิดอุทกภัย ณ จังหวัดอุบลราชธานี โดยรูปแบบของหน่วยสัตวแพทย์ฯ ครั้งนี้ จะดำเนินการไปทีละอำเภอ เรียงไปจนครบทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ อำเภอดอนมดแดง อำเภอเขื่องใน อำเภอตระการพืชผล อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอสว่างวีระวงศ์ โดยครอบคลุมกว่า 60 ตำบล 450 หมู่บ้าน ระหว่างวันที่ 9-22 ตุลาคม 2562 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 14 วัน การดำเนินการ ประกอบด้วย 1.หน่วยให้บริการสำหรับปศุสัตว์ ดำเนินการในรูปแบบหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่กระจายไปตามหมู่บ้านที่ประสบอุทกภัย โดยจะให้บริการตรวจรักษาโค กระบือ สุกร และสัตว์ปีก รวมถึงให้คำแนะนำการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์แก่เกษตรกร วันละประมาณ 30-35 หมู่บ้าน 2.หน่วยให้บริการสำหรับสัตว์เลี้ยง จะดำเนินการวันละ 2 จุด ในชุมชนที่มีสัตว์เลี้ยงจำนวนมาก โดยจะให้บริการตรวจรักษาสุนัขและแมว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผ่าตัดทำหมัน “ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทุกท่านที่ร่วมมือกันดำเนินการฯ จากการดำเนินการหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ดังกล่าว คาดว่าทั้งสัตว์ปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงของประชาชนจะได้รับการดูแลรักษาให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง และสามารถลดการสูญเสียของเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย”อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว