“CKP”เตรียม COD โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีขายไฟฟ้า 1,220 เมกะวัตต์ให้ กฟผ.ภายในเดือนต.ค.62เผยผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ.ด้วยมาตรฐานเข้มงวด รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน-รองรับสภาวะฉุกเฉินกรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ข้างเคียงเกิดขัดข้องสามารถเพิ่มกำลังผลิตชดเชยส่วนที่ขาดได้งทันทีภายในระยะเวลารวดเร็ว นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ คือ “CKP” ผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว เปิดเผยว่า ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมในการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date:COD) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 7 เครื่อง กำลังการผลิตรวม 1,220 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ภายหลังที่บริษัทได้ทยอยเดินเครื่องทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ.เป็นไปอย่างราบรื่น มีความเสถียรและมั่นคง โดยในช่วงทดสอบระบบไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการขายไฟฟ้าราคาถูกก่อนการขายไฟเชิงพาณิชย์ และบริษัทมั่นใจพร้อมส่งไฟฟ้าสะอาดสู่ประเทศไทยภายในเดือนต.ค.นี้อย่างแน่นอน สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้นแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟให้แก่ กฟผ.ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์จาก สปป.ลาว เข้าทาง อ.ท่าลี่ จ.เลย และส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว(EdL) จำนวน 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ภายใน สปป.ลาว โดย กฟผ.ได้อนุมัติการทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเริ่มซื้อไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักทั้ง 7 เครื่อง ต้องผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ.ด้วยมาตรฐานที่เข้มงวดเพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน (Daily Peaking) รวมถึงสามารถทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉินกรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณข้างเคียงเกิดขัดข้อง โรงไฟฟ้าไซยะบุรีจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตชดเชยส่วนที่ขาดได้อย่างทันท่วงทีภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว “ถือเป็นข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพการจ่ายไฟในระบบของ กฟผ.โดยการทดสอบระบบพร้อมกันทั้ง 7 เครื่อง มีทั้งแบบทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นเครื่องๆ(Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สามารถเดินเครื่องแบบมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่ง CKPower ผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มั่นใจว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีผลกระทบต่อท้ายน้ำ อีกทั้งยังคงสภาพทางธรรมชาติตลอดเวลา ไม่ว่าจะผลิตไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม” ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้นและกลุ่มนักลงทุน นอกจากการเปิดขายไฟเชิงพาณิชย์ได้ทันตามเวลาอย่างพร้อมสมบูรณ์แล้ว แนวทางการลงทุนด้านไฟฟ้าพลังน้ำของ CKPower ยังคงคำนึงถึงการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่อยู่บนความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นอันดับแรกของการบริหารโครงการด้วยมูลค่าการลงทุนเพื่อรักษาระบบนิเวศของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สูงถึง 19,000 ล้านบาท มีการศึกษาก่อนเริ่มโครงการและเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยมีธรรมชาติเป็นต้นแบบ นอกจากนี้ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นมาตรฐานที่สำคัญว่าหากจะลงทุนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงต้องกล้าที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วยถึงจะทำให้การผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงนั้นยั่งยืน “โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัยด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำ มีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย ที่สำคัญคือศึกษาบนลำน้ำโขงด้วยพันธุ์ปลาน้ำโขงทั้งหมด ถือว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมปลาน้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดของโลกในขณะนี้” สำหรับ CKPower ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 3 ประเภทจำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ประกอบด้วย โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ภายใต้บริษัทไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% ถือผ่านบริษัทเซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัทบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้บริษัทบางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัทเชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัทนครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์