ปตท. ต่อยอดขยายผลแนวคิด “สวนป่าครัวเรือน” ทั่วประเทศ ประเดิม "ห้วยลึก" ต้นแบบแหล่งเรียนรู้ดูงานไร่ นา ป่า สวน พร้อมผสานใช้ชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ​เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่เพชรบุรี นางณภัค กรรณสูต ผู้จัดการฝ่ายสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่างการลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้าโครงการ “สวนป่าครัวเรือน” ในต.ห้วยลึก บ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ว่า โครงการได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นที่น่าพอใจ โดยมีราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)เป็นแกนนำ ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดความตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่ไปกับการทำนา ทำสวน เกษตรผสมผสาน และการดำเนินชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับการรักษาวัฒนธรรมตาลโตนดอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ สำหรับตำบลห้วยลึกนั้น เป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกป่า 1 ล้านไร่ ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชย์สมบัติ 50 ปี เมื่อปี พ.ศ.2537 นอกจากปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติแล้ว ปตท.ยังร่วมกับกองทัพภาค กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช น้อมนำโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจัดอบรมให้กับราษฎรรอบแปลงปลูกป่า ผู้จัดการฝ่ายสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. กล่าวต่อว่า ลักษณะของสวนป่าครัวเรือนในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไป แต่หัวใจสำคัญคือต้องมีการดูแลเรื่องของป่าเป็นหลัก เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวระดับครัวเรือน มีการเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยปตท.ให้ความสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆปัจจุบันตำบลห้วยลึกมีโครงการในลักษณะของสวนป่าครัวเรือนอยู่ประมาณ 80 ครัวเรือน พื้นที่โดยประมาณ 300 ไร่ และมีพื้นที่ตัวอย่างให้เปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ 7 ครัวเรือน พื้นที่โดยรวมประมาณ 127 ไร่ 3 งาน นายสายัณห์ สุขสงัด ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ระดับประเทศ กล่าวว่า การจัดทำโครงการดังกล่าว ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกในชุมชน โดยแต่ละบ้านยังคงวิถีชีวิตแบบเดิม มุ่งพัฒนาสิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ปัจจุบัน บ้านห้วยลึก เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ในเรื่องการรักษาป่า ควบคู่กับการปลูกพืชไร่ พืชสวน ผสมผสานไปกับการสืบสานงานวัฒนธรรมการทำน้ำตาลโตนด อันเป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน เป็นต้นแบบของการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง แต่เลี้ยงตัวเองได้ มีคนสนใจแวะไปเยี่ยมเยียน เพื่อการเรียนรู้ ติดต่อได้ที่ นายสายัณห์ สุขสงัด ประธานเครือข่ายรสทป.ระดับประเทศ 085-266-5544 ​ ​