ธนาคารโลก-ไอเอ็มเอฟประเมินภาคการเงินของไทยมีเสถียรภาพ-กำกับดูแลเป็นมาตรฐาน ทัดเทียมอังกฤษ-ฮ่องกง-สิงคโปร์ สั่งเกาะติดใกลิชิดความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนสูง หนุนออกมาตรการเชิงป้องกัน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า คณะผู้ประเมินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF ) และธนาคารโลกได้มาประเมินภาคการเงินของประเทศไทย ตามโครงการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program : FSAP) ซึ่งครั้งนี้เป็นการประเมินครั้งที่ 2 หลังจากเข้าร่วมประเมินครั้งแรกปี 2550 พบว่า ภาพรวมของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก โดยระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ ระบบสถาบันการเงิน (สง.) มีความมั่นคง ระบบการกำกับดูแล สถาบันการเงินทัดเทียมกับประเทศอื่นในระดับสากล เช่น อังกฤษ ฮ่องกง สิงคโปร์ ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะมั่นคง มีเงินกองทุนและสภาพคล่องสูง มีหลักเกณฑ์การดูแลความมั่นคงและการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพเท่าทันความเสี่ยง ธปท.มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศ ส่วนระบบบาทเนตมีความมั่นคงปลอดภัย มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องตามมาตรฐานสากลทุกด้าน อย่างไรก็ตามต้องติดตามความเสี่ยงบางจุด เช่น ความเปราะบางภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประเมินได้สนับสนุนการออกมาตรการเชิงป้องกัน (macroprudential policy)เพื่อดูแลไม่ให้ความเปราะบางของหนี้ภาคครัวเรือนขยายจนส่งผลกระทบ พร้อมทั้งเสนอแนะให้มีการพัฒนาการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจเหมือนกับธนาคารพาณิชย์และมีแนวทางการตรวจสอบสหกรณ์การเงิน รวมทั้งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวว่า ตลาดทุนไทยเป็นประเทศแรกๆที่ได้รับการประเมินตามมาตรฐานใหม่ของ International Organization of Securities Commissions Principles ( IOSCO) และได้รับผลประเมินดีมากทัดเทียมตลาดทุนชั้นนำของโลกเช่น สหรัฐฯ สิงคโปร์และฮ่องกง ทางด้านการกำกับดูแลที่ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนทั่วโลก การบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย)จำกัด ได้คะแนนระดับที่ดีถึงดีมาก นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)กล่าวว่า มาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยได้รับการประเมินระดับที่ดีมากเทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาด้านประกันภัยเช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน โดยติดอันดับ 4 จากทั่วโลก และอยู่ในอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์