คณะทำงานวอร์รูมพาณิชย์รับมือผลกระทบจากสงครามการค้ามะกันกับจีน-การถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอาจรากยาวแถมเจอบาทแข็ง-สารพัดปัจจัยลบ ด้านคณะทำงานวอร์รูมแนะปรับโครงสร้างประเทศรับมือระยะยาวแทน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะทำงานวอร์รูมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสงครามการค้าสหรัฐกับจีนและการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)นั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการรับมือการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยเห็นตรงกันว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างประเทศ ด้วยการใช้โอกาสจากเงินบาทที่แข็งค่านำเข้าวัตถุดิบราคาถูกมาผลิตเป็นสินค้า และให้มีการปรับกฎระเบียบภายในให้เอื้อต่อการนำเข้า ซึ่งจะทำให้ไทยมีสินค้าศักยภาพ เพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับด้านการส่งออก เห็นตรงกันว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามากมีผลกระทบต่อการส่งออกการจะเข้าไปแทรกแซงก็ทำไม่ได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดูแล แต่การที่เงินบาทแข็ง ก็เป็นโอกาสที่จะไทยจะปรับพอร์ตประเทศใหม่ มาดูเรื่องการนำเข้าและใช้ประโยชน์จากการนำเข้าไม่ต้องกลัวว่านำเข้ามากจะไม่ดี ขณะที่ด้านการลงทุน เห็นว่าไทยจะต้องเร่งการดึงดูดการลงทุนโดยตรงให้เพิ่มมากขึ้น เพราะผลจากสงครามการค้า ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่น หลายประเทศ ซึ่งไทยจะต้องมีนโยบายและมาตรการดึงดูดการลงทุนที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ดำเนินการอยู่ แต่จะไม่เน้นการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นด้วยกับการส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าไทย สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจของไทย และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ใช่จะพึ่งพาแต่การส่งออกเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันจีดีพีของไทยพึ่งพาการส่งออกสูงมาก อีกทั้งไทยจะต้องเร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) โดยเฉพาะไทย-สหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมการไปแล้ว และจะเดินหน้าแน่นอน เพราะหากไทยไม่ทำจะเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่ปัจจุบันมีการทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว และยังต้องเร่งเจรจาเอฟทีเอที่ค้างในเสร็จ ทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน ทั้งนี้แผนรับมือด้านการส่งออก กรณีสงครามการค้าจะเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าที่แต่ละฝ่ายขึ้นภาษี โดยสินค้าที่มีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯเช่น ยางรถ ตู้เย็น และข้าว ส่งออกไปจีนเช่น เครื่องสำอาง อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกและเด็กเล็ก และตลาดเมืองรองของจีนเช่น แป้งมันสำปะหลัง ทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ส่วนสินค้าที่ต้องเตรียมหาตลาดใหม่ทดแทนจีนเช่น มันสำปะหลัง ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และทดแทนตลาดสหรัฐฯเช่น เครื่องโทรศัพท์ หน่วยเก็บของเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และส่วนประกอบของเครื่องโทรศัพท์ และสินค้าที่ต้องมีการปรับโครงสร้าง และดึงการลงทุนเช่น ตัวประมวลผลและตัวควบคุมสำหรับวงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ แล็ปท็อป โน้ตบุ๊ก ยารักษาโรค อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้แนวทางการรับมือ Brexit จะต้องเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับอียูและอังกฤษให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เร่งส่งออกไปอังกฤษ โดยใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีชั่วคราวที่ลดลง หรือการที่อังกฤษจะหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทนนำเข้าจากอียู เร่งดึงดูดนักลงทุนอียูและอังกฤษมาลงทุนในไทย หาลู่ทางกระจายการลงทุนในเนเธอร์แลนด์และประเทสแถบยุโรปตะวันออก รวมทั้งต้องเตรียมการเรื่องโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าไปอังกฤษ และเตรียมเครื่องมือรับประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยแนวทางต่าง ๆจะนำเสนอต่อคณะทำงาน กรอ.พาณิชย์พิจารณาอีกครั้งปลายเดือนต.ค.นี้ต่อไป