งานรำลึก “ครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519” คึกคัก ญาติวีรชน-องค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมไว้อาลัยแน่น “อธิการบดี มธ.” เผย เหตุการณ์นองเลือด 43 ปีก่อน ยังส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ระบุ บาดแผลทางประวัติศาสตร์ช่วยยับยั้งความรุนแรงในอนาคตได้ ด้าน “หมอเลี้ยบ” ปาฐกถารำลึก แนะหยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป พร้อมสรุปบทเรียน 6 ข้อ ที่ตัวเองได้รับ มั่นใจทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงาน “ครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ขึ้น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และไว้อาลัยต่อวีรชนผู้สูญเสีย โดยมีนักศึกษา คณาจารย์ ญาติวีรชน ผู้แทนองค์กรทางการเมืองและองค์การที่เกี่ยวจ้อง รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แม้เหตุการณ์ นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 จะผ่านมาแล้ว 43 ปี แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายๆ ระดับ ซึ่ง มธ. ตระหนักดีถึงความสำคัญและยอมรับความจริงในบาดแผลทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ ที่จะนำไปสู่การสรุปบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต “เราจะร่วมกันจดจำรำลึก สืบทอดวัฒนธรรม คุณความดีและจิตวิญญาณของผู้วายชนม์เหล่านี้ไว้ ร่วมกันแปรความสูญเสีย ความโศกเศร้าให้เป็นพลังสร้างสรรค์ และร่วมกันจุดความสว่างไสวให้กับสังคมไทย ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต” รองศาสตร์จารย์ เกศินี กล่าว นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 โดยสรุปบทเรียนที่ได้รับตลอดระยะเวลา 43 ปี จากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2518 ซึ่งมีด้วยกัน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตายเพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ตนใฝ่ฝัน 2. จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน แต่อย่ามีความสุขเพราะอยากให้ผู้คนยกย่องจดจำชื่อ 3. ฝันให้ยิ่งใหญ่แต่เดินไปทีละก้าว อย่าโบยตีตัวเองจนหม่นหมองในความทุกข์ ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามความฝันไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ถ้าเหนื่อยก็พัก 4. ไม่ว่าอะไรจะพลิกผันความฝันก็ยังคงง่ายเหมือนเดิม คือเพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง 5. สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ต้องเปลี่ยนแปลง ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่งที่ปัจจัยทุกอย่างพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น 6. พรุ่งนี้หรือชาติหน้าไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน วันนี้จึงควรอยู่อย่างมีสติและอยู่อย่างราวกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ของชีวิต เพื่อวินาทีที่เราจะจากไป จะได้บอกกับตัวเองได้ว่าฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฝันแล้ว นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่เคยลืมภาพในช่วงสายของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และทุกครั้งที่ความทุกข์ ความเศร้าจะเข้ามาเกาะกุมจิตใจก็จะไม่ยอมแพ้ เพราะเมื่อนึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์และเพื่อนที่ทิ้งชีวิตสบายๆ ในเมืองหลวงสู่ป่าเขาและมีบางคนไม่ได้กลับมา ก็จะลุกขึ้นมาบอกกับตัวเองว่าหยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป นายคณธัช ดำรงชัยธรรม ตัวแทนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ความสูญเสียในอดีตได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับประเทศชาติ และเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกลายเป็นข้ออ้างให้กลุ่มอำนาจสามารถยึดผลประโยชน์เข้าหาตน โดยอ้างความไร้เสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย โดยหารู้ไม่ว่าความเป็นธรรมในสังคมได้สูญหายไปพร้อมวีรชนเหล่านั้นแล้ว นายนิติศักดิ์ ปานปรุง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสุนทรพจน์ ๖ ตุลา ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันชักไม่แน่ใจว่าสังคมไทยได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมากน้อยเพียงใด ทุกวันนี้สังคมไทยยังคงเต็มไปด้วยความเกลียดชัง ยังคงมีการหล่อหลอมให้ฝั่งตรงข้ามกลายเป็นปีศาจร้ายของสังคม นับจากวันนี้ได้ล่วงเลยมาแล้ว 43ปีเต็ม มีใครบางคน คนบางกลุ่ม ไม่ปรารถนาให้สังคมไทยจดจำเหตุการณ์ครั้งนั้น ทว่าเราทุกคนยืนยันว่าแม้ใครเขาอยากจะทำให้เราลืม เราไม่เคยลืม และจะไม่มีวันลืม สำหรับงาน “ครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519” เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 19 รูป ณ สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” พิธีวางพวงมาลาและดอกไม้ ณ ประติมานุสรณ์ “6 ตุลาคม 2519” โดยผู้แทนองค์กรต่างๆ อนึ่ง ผู้แทนองค์กรที่ร่วมพิธีวางพวงมาลาและดอกไม้ อาทิ มธ. มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ คณะกรรมการญาติวีรชน 6 ตุลา สมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา องค์การนักศึกษา มธ. สภานักศึกษา มธ. อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลา ชมรมโดมรวมใจ ผู้แทนพรรคการเมือง สหภาพและสหพันธ์แรงงาน สมัชชาคนจน มูลนิธินิคม จันทรวิทุร เครือข่ายเดือนตุลา มูลนิธิ 14 ตุลา คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 มูลนิธิศักยภาพชุมชน