มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครูประจำปีการศึกษา 2561 ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา หัวหน้าภาควิชามนุษยศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศาสนากับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ให้แง่คิดมุมมองถึงความสำคัญของการศึกษาศาสนา ด้วยว่า ในปัจจุบันนี้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา ทั้งในด้านบวกและลบ แม้แต่สหประชาชาติ ก็ได้ดึงพลังของศาสนามาใช้เพื่อช่วยผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือSDGs นอกจากนี้ การเรียนศาสนายังเป็นทางลัดของการเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง เป็นพื้นฐานให้แก่ความเข้าใจว่าคนอื่นมองโลกต่างจากเราอย่างไร และความเข้าใจว่าเราจะอยู่กับคนที่แตกต่างอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่เปลี่ยนแปลง ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาจารย์ยังว่า สมัยก่อนเราเชื่อว่าจริยธรรมจะมีความสำคัญน้อยลง เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น เพราะเข้าใจว่าผู้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้น มีกินมีใช้มากขึ้น จึงไม่ต้องทะเลาะกัน แต่จริงๆ พบว่าพอเทคโนโลยีมากขึ้น ก็ต้องมีการตัดสินใจมากขึ้น ที่ใดที่มีการตัดสินใจ มักจะมีมิติของการตัดสินใจว่าอะไรถูก ผิด ดี เลว ซึ่งหมายความว่าจริยศาสตร์ต้องเข้ามามีบทบาทด้วย "จริยธรรมก็เหมือนกับอากาศ เรามองไม่เห็น แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราอยู่ได้ ทุ่มเททำสิ่งอื่นได้ อย่างเช่น การวิจัย ถ้าขาดเงื่อนไขของจริยธรรมวิชาการ คนทำวิจัยออกมาแล้วถูกขโมยผลงาน คนก็จะขาดกำลังใจที่จะผลิตงานวิจัย จริยธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เวลาเสื่อมลงไป คนไม่ค่อยตระหนัก เพราะมนุษย์มีความต้านทานกับความเสื่อมจริยธรรมสูง หมายความว่าเราสามารถทนกับความเสื่อมจริยธรรมไปได้เรื่อยๆ จนบางทีไปถึงจุดที่เหมือนกับ “ป่าเถื่อน” แล้วเราก็ยังไม่รู้สึกตัว
ความเสื่อมทางจริยธรรมไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคนๆ เดียว เคยมีการทดลองโดยเอาเด็กๆ มาอยู่ในห้อง ลองให้มีคนโกงคนหนึ่ง แล้วคนอื่นก็จะเริ่มโกงตาม เหมือนเป็นโรคติดต่อ"
รวมทั้งเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ถูกหยิบยกกันมาก อาจารย์มองว่า “ ในสังคมไทยเอง เวลาเราพูดถึงสิทธิมนุษยชน หรือเสรีนิยมประชาธิปไตย ถ้าคุยกันโดยไม่มีพื้นฐานทางปรัชญา ก็อาจจะหลงทางได้ เช่น คำว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" บางคนบอกว่า การไปวิจารณ์ผู้อื่นเป็นการ "ละเมิด" ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่จริงๆ ถ้าเกิดสมมติว่ามีคนทำไม่ดี แล้วเราไม่บอกเขา นั่นคือ การ "ละเมิด" ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในขณะที่ถ้าคนอื่นทำไม่ดี แล้วเราบอกให้เขารู้ว่าทำไม่ดี อันนี้ต่างหากจึงเป็นการ "เคารพ" ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา" ขณะที่ การศึกษาวิชาปรัชญา นอกจากความสำคัญของการศึกษาด้านจริยศาสตร์แล้ว กระแสของโลกปัจจุบันยังได้มีการนำเอาวิธีการทางปรัชญาไปสอนกับเด็ก หรือเรียกว่า Philosophy For Children (P4C) เป้าหมายไม่ได้เพื่อให้เด็กกลายเป็นนักปรัชญา แต่ให้เด็กมีความคิดเชิงวิพากษ์ โดยใช้เทคนิคการถกเถียง เทคนิคการวิเคราะห์ทางปรัชญาไปให้เด็กใช้กับประเด็นทั่วๆ ไป "ในส่วนของอุปสรรคในด้านการศึกษาทางปรัชญา พบว่าคนยังแยกไม่ออกระหว่าง "ปรัชญา" กับ "ศาสนา" คิดว่าปรัชญาเป็นศาสนาก็มี บางคนสอนปรัชญา แต่ไปเอาศาสนามาสอน ในขณะที่บางคนเอาปรัชญามาสอน แต่สอนแบบศาสนา คือ สอนเนื้อหาให้ท่องจำ แต่ละเลยเรื่องวิธีการ ซึ่งการเรียนปรัชญาต้องรู้วิธีการด้วย ถ้าไม่รู้วิธีการจะเรียกว่ารู้ปรัชญาไม่ได้ เหล่านี้เป็นเหตุที่ทำให้ปรัชญาของเราไม่ค่อยเข้มแข็ง" รวมทั้ง "มีคนถามว่าทำไม ประเทศเราเป็นเมืองพุทธ แต่วิชาการด้านพุทธไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะเราไม่ได้ศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการ จริงๆ แล้วการรู้แบบ "ศาสนิก" ซึ่งมุ่งให้เป็นชาวพุทธที่ดี แต่ไม่ได้รู้แบบ "นักวิชาการ" ซึ่งการเรียนรู้โดยขาดพื้นฐานจากสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปรัชญา สังคมวิทยา และมนุษยวิทยา ไปจัดการกับประเด็นทางศาสนาที่มีความซับซ้อน ทำให้วิชาการด้านการศึกษาศาสนาไม่ก้าวหน้า" "ยิ่งไปกว่านั้นในการจัดการศึกษาพบว่า วิชามนุษยศาสตร์ ซึ่งที่จริงอยู่ฝั่งศิลป์ สังคมศาสตร์อยู่ฝั่งวิทย์ แต่ในประเทศไทยมักเอาสองศาสตร์นี้มาอยู่ด้วยกัน จึงทำให้เกิดปัญหา โดยตอนเรียนสังคมศาสตร์ก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องคิดแบบวิทยาศาสตร์ได้ หรือว่าพอเรียนมนุษยศาสตร์ก็ไปเอาสังคมศาสตร์มาปนซึ่งเป็นคนละเรื่อง เพราะฉะนั้นจุดแรกที่จะต้องพยายามทำในการสอนนักศึกษาก็คือ ให้เห็นเหมือนกับแผนที่ความรู้ที่สามารถแบ่งแยกสาขาวิชาได้ และจุดที่สองที่ควรให้ความสำคัญก็คือ ให้รู้จักสาขาวิชาของตนเองที่ศึกษา และอีกจุดก็คือ ให้ "เข็มทิศ" หรือ “เครื่องมือ” ที่จะให้นักศึกษาสามารถนำไปคิดหรือวิเคราะห์ศึกษาต่อเองได้" รศ.ดร.ปกรณ์กล่าวทิ้งท้าย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กรฯ ม.มหิดล ศาลายา