ลุ่มน้ำยม เป็นลุ่มน้ำที่มีปัญหาตลอดช่วงระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งผลกระทบที่มาจากน้ำมือมนุษย์ อาทิ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคโดยขาดการจัดการที่เป็นระบบและที่เหมาะสม การบุกรุกทางน้ำธรรมชาติ การตัดไม้ทำลายป่า และผลจากปัจจัยทางธรรมชาติ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ระบุถึงแนวทางการบริหารทรัพยากรน้ำในภาคเหนือ ครอบคลุม 4 แนวทางหลัก ดังนี้ 1.การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และการจัดการการใช้ประโยชน์ในเขตต้นน้ำ 2.การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มน้ำต้นทุนสำหรับเมืองหลัก พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและชุมชนที่มีรายได้ต่ำ 3.บรรเทาอุทกภัยน้ำหลากฉับพลันที่ลาดเชิงเขา ดินโคลนถล่ม โดยเน้นการเตือนภัย ปรับตัวและเผชิญเหตุ และ 4.การวางแผนระยะยาว สร้างความสมดุลการใช้ที่ดินต้นน้ำและท้ายน้ำ ทั้งนี้ สทนช. ได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานเปิดตัวการดำเนินงานในระดับภูมิภาคของโครงการด้านน้ำ ภายใต้ความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Climate Programme-Water: TGCP-Water) โดยมีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการลุ่มน้ำยม ผู้แทนหน่วยงานราชการ และผู้แทนชุมชนในลุ่มน้ำยม เข้าร่วมกิจกรรม ณ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ คุณสเตฟาน ฮุปเพิทซ์ ผู้อำนวยการโครงการด้านน้ำ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า GIZ ได้ร่วมลงพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชุมคัดเลือกลุ่มน้ำยมเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง ลุ่มน้ำยมเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากแต่เป็นลุ่มน้ำที่มีความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการหาทางออกสำหรับการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน จุดเด่นของพื้นที่นี้ คือ การประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในลักษณะภาคีเครือข่าย เพื่อหาแนวทางการพัฒนา ลดและขจัดความขัดแย้ง โดยผลการศึกษาที่ผ่านพบว่า ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานด้านน้ำเพื่อการตั้งรับปรับตัวของรัฐบาลเยอรมนี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากผลการศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำเชิงพื้นที่ (Area-based) สทนช. ได้ระบุ 2 พื้นที่เป้าหมายในการบรรเทาปัญหาทรัพยากรน้ำ คือ พื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนและลุ่มน้ำยม–น่านตอนล่าง ซึ่งมีครัวเรือนได้รับผลกระทบประมาณ 230,000 ครัวเรือน โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนศรีสัชนาลัย อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ และโครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในเขตพื้นที่ทุ่งบางระกำ ทั้งนี้ สทนช. ก็ได้มีการพิจารณามาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างร่วมด้วย โดยในพื้นที่ตอนบน จะเน้นการดำเนินการตามแผนแม่บทด้านที่ 5 เน้นงานพัฒนาเชิงอนุรักษ์ พร้อมฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ขณะที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างที่มีปัญหาด้านการระบายน้ำ จะบูรณาการผังน้ำและผังเมือง การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก พร้อมปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ เชื่อมโยงเครือข่ายน้ำ คลองผันน้ำต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ท้ายสุด ดร. อเล็กซานเดอร์ เราโบลด์ ที่ปรึกษาทูตฝ่ายเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ย้ำว่า รัฐบาลเยอรมนีโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธาณรัฐเยอรมนี (BMU) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นภาคีที่ร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยโครงการด้านน้ำภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2561 และจะดำเนินการไปจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 ทั้งนี้ สทนช. ภาค 1 ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ จะทำหน้าที่บูรณาการและจัดทำแผนแม่บทระดับลุ่มน้ำ รวมถึงแผนปฏิบัติการและงบประมาณ ที่มาจากความต้องการในการพัฒนาของคนในพื้นที่และสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) นอกจากนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญของ GIZ จะได้เข้ามาดำเนินงานร่วมกับ สทนช. ภาค หารือกับชุมชนเพื่อพัฒนาแผนงานหรือกิจกรรมที่เน้นการประยุกต์ใช้แนวคิดการตั้งรับปรับตัวโดยใช้ระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA) และนำเสนอผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ กนช. ต่อไป