ด้วยโมเดลท่องเที่ยวชุมชน ที่ทาง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เข้าไปส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว และเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวให้สามารถเข้าไปร่วมรับผลประโยชน์ในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว จนสามารถขยายผลความสำเร็จไปยังชุมชนใกล้เคียง เพื่อเพิ่มสินค้า และทางเลิกด้านการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ขยายผล 2ชุมชนเมืองพัทยา ซึ่ง นาย ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้กล่าวว่า เวลานี้ทางอพท. ได้เตรียมใช้โมเดลความสำเร็จของสองชุมชนต้นแบบเมืองพัทยา ทั้งชุมชนจีนโบราณบ้านชากแง้ว และชุมชนตะเคียนเตี้ยขยายผลไปยังพื้นที่เชื่อมโยง ด้วยการสร้างโปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยวแบบ วันเดย์ ทริป และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มวันพำนัก และทางเลือกให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เป็นการสร้างการจดจำเมืองพัทยาในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้มีเพียงสถานความบันเทิงเท่านั้น สำหรับเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ประกอบด้วย 1.เมืองพัทยา 2.เทศบาลเมืองหนองปรือ 3.เทศบาลตำบลบางละมุง 4.เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย 5.เทศบาลตำบลโป่ง 6.เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ 7.เทศบาลตำบลนาจอมเทียน 8.เทศบาลหนองปลาไหล 9. อบต.เขาไม้แก้ว 10.เทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ และประกาศพื้นที่พิเศษฯ เพิ่มเติมโดยรวมเขตพื้นที่ เทศบาลนาจอมเทียนด้วย ดังนั้นการพลิกภาพลักษณ์เมืองพัทยา ด้วยการดึงชุมชนที่มีความพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องท่องเที่ยว โดยนำขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต ทรัพยากร รวมถึงคนในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง และมีความสามัคคี นอกจากจะเป็นการเพิ่มดัสนีความสุขไปสู่ชุมชนแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวในมุมใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ สร้างความสุขทางกายและใจ ทั้งนี้ นาย ทวีพงษ์ กล่าวว่า ทางอพท.ต้องการขยายเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อเชื่อมกับ 2 ชุมชนต้นแบบ คือ ชุมชนตะเคียนเตี้ย และชุมชนชากแง้ว โดยตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 3 ปีนับจากนี้น่าจะเชื่อมเส้นทางดังกล่าวได้สำเร็จ และสามารถเพิ่มวันพักของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 1 คืน จากเดิมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 คืน และสามารถเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของพัทยา ซึ่งอาจจะมีกลุ่มครอบครัวโดยเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวกับบ้านชากแง้ว ขณะที่กลุ่มตลาดงานสัมมนา และอบรมเป็นการนำผู้ร่วมงานไปเรียนรู้วิถีชุมชนโบราณของคนภาคกลางผ่านเส้นทางท่องเที่ยวสู่บ้านตะเคียนเตี้ย "เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนไม่ได้มุ่งเป้าไปที่รายได้หรือกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ และฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อที่จะสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน รวมทั้งเป็นการสร้างความสุขทางกายและทางใจให้กับคนในชุมชน ที่เมื่อพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ลูกหลานที่ออกไปทำงานต่างจังหวัดจะได้กลับมาสร้างอาชีพในชุมชนเพิ่มมากขึ้น" โดย นาย ทวีพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า การต่อยอดไปยังพื้นที่ใกล้เคียงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ อพท. เพื่อทำให้บรรลุพันธกิจการกระจายรายได้สู่ชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างชุมชนเข้มแข็ง เพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคตตามกรอบนโยบายของรัฐบาล อย่างเช่น ชุมชนจีนโบราณชากแง้ว เป็นชุมชนต้นแบบเดียวในพื้นที่พิเศษทั้งหมด 6 พื้นที่ของอพท. ที่มีถนนคนเดินเปิดบริการทุกวันเสาร์ ซึ่งมีคนสนใจมาเที่ยวถึงวันละ 3,000 คนใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 500-1,000 บาท สร้างรายได้มากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 72 ล้านบาทต่อปีนับเป็นรายได้ที่ดีในชุมชนเล็กๆ ที่มีคนอาศัยอยู่เพียง 200-300 ครัวเรือนเท่านั้น ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ชุมชน อย่างไรก็ตาม นาย ทวีพงษ์ กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนไม่ได้มุ่งที่ตัวเลขเป็นประเด็นสำคัญ แต่เน้นที่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้เป็นเพราะอพท. ไม่ได้เป็นหน่วยงานสร้างรายได้ แต่เป็นหน่วยงานที่นำรายได้ลงไปสู่พื้นที่ชุมชนให้ได้รับประโยชน์จากพื้นที่ชุมชน และจากการวัดค่าความเหลื่อมล้ำของชุมชนชากแง้ว หลังจากพัฒนาผ่านมา 5 ปี ตัวเลขจากเดิมอยู่ที่ 1.00 ตอนนี้ลดลงเหลือเพียง 0.63 เท่ากับว่าการพัฒนาดีขึ้น การกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมดีขึ้น สำหรับดัชนีวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในช่วง 5 ปีที่ทาง อพท.ตั้งไว้ คือ ตั้งแต่ปี 2560 - 2564 ของการพัฒนาการท่องเที่ยว ผลที่ชุมชนจะได้รับคือ ประชาชนในพื้นที่พิเศษจะต้องผ่านเกณฑ์ประเมินระดับความอยู่ดีมีสุขไม่น้อยกว่า 70% รวมทั้ง นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่มีความสุขไม่น้อยกว่า 70% เช่นกัน และเพิ่มเป็น 85% ในปี 2579 ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% เพิ่มเป็น 25% ในปี 2579 และเกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่พิเศษเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40% และเพิ่มเป็น 70% ในปี 2579