ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ในยุคดิจิตอลนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างก้าวกระโดด แน่นอนย่อมมีประโยชน์อย่างมหาศาลในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกันก็กลับกลายเป็นภัยอย่างร้ายแรงในการใช้เป็นอาวุธห้ำหั่นกัน ซึ่งอาจมีอำนาจทำลายล้างได้อย่างไร้ขอบเขต อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่าประเทศที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระดับสูงจะเป็นฝ่ายได้เปรียบและกุมสภาพความเหนือชั้นกว่าในการทำสงคราม ทว่าสิ่งสำคัญกว่าเทคโนโลยีคือความมุ่งมั่นและยืนหยัดที่จะเอาชนะสงครามด้วยพลังอำนาจทั้งมวลของชาติ และใช้ทุกปัจจัยที่มีในการสู้รบ โดยพยายามทุ่มเทจุดแข็งเข้าโจมตีจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม โดยนัยนี้ประเทศที่ด้อยกว่าทางเทคโนโลยีหากมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ย่อท้อต่อเวลาที่ผันผ่านก็สามารถเอาชนะประเทศที่เหนือกว่าได้ แม้ 100 ปี ก็ไม่สาย ด้วยเหตุนี้เมื่อประเทศจีนสามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาจนไล่ตามหลังสหรัฐฯ ชนิดลมหายใจรดต้นคอ ทำให้นักการทหารของสหรัฐฯเกิดความตื่นตัวและพยายามค้นหาข้อมูลเพื่อจะศึกษาถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่จีนจะนำมาใช้กับสหรัฐฯ เพื่อหาทางปกป้องหรือตอบโต้จีนหากเกิดสงคราม ที่มีการใช้กำลังอาวุธกันอย่างจริงจัง ความตื่นกลัวของสหรัฐฯนี้ในแง่มุมของนักการทหารมิได้พึ่งเกิดขึ้น แต่มันมีแรงกระตุ้นจากการที่สหรัฐฯที่มีกำลังอาวุธ และเทคโนโลยีเหนือกว่ามากมาย กลับพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ นั่นทำให้นักการทหารต้องกลับไปทบทวนและศึกษาในเชิงลึกเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุสำคัญของความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น การศึกษาเรื่องสงครามของวิทยาลัยป้องกันประเทศของสหรัฐฯ นำไปสู่การค้นพบหนังสือเกี่ยวกับการทหารของจีนคือหนังสือชื่อ Unrestricted Warfare ที่เขียนโดยอดีตนายทหาร 2 ท่าน ในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน คือ พ.อ.เชาเลียง และ ศ.พ.อ.วัง เซียงสุย ที่มีการตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ แม้หนังสือเล่มนี้จะมีการจัดตีพิมพ์นานมาแล้ว แต่ทางนักศึกษาการสงครามของสหรัฐฯก็มีความตื่นตกใจในความคิดของผู้เขียนทั้ง 2 ท่าน และมองว่านี่เป็นการวางแผนทางการทหารและการสงครามของจีนในระยะยาวที่จะทำลายสหรัฐฯ ในหนังสือดังกล่าว “สงครามที่ไร้ขอบเขตจำกัด” ได้นำเสนอยุทธวิธีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีนในการทดแทนความอ่อนด้อยกว่าทางทหาร กับมหาอำนาจ ซึ่งคงหมายถึงสหรัฐฯ ด้วยการระดมสรรพกำลังตลอดจนยุทธวิธีหลากหลายในการทำสงครามที่มิได้ใช้เพียงกำลังทหาร ตัวอย่างของการนำเสนอ เช่น หากไม่พร้อมที่จะเอาชนะศัตรูด้วยกำลังทหารโดยตรงก็ให้พยายามหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง และใช้วิธีการอื่นๆในการทำสงคราม เช่น สงครามเศรษฐกิจการบ่อนทำลายสถาบันการเงิน การใช้สงครามสารสนเทศ แม้แต่การใช้สงครามไซเบอร์ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่จำกัดมาขยายศักยภาพในการทำลายกระบวนการสื่อสารของฝ่ายตรงข้าม ทำให้นักการทหารของสหรัฐฯหลายคนตื่นตระหนกและมีการนำเสนอต่อนักการเมืองเพื่อให้เกิดการตื่นตัวต่อท่าทีของจีนในการทำสงคราม หลายคนถึงกับอ้างว่านี่เป็นแผนของจีนที่จะทำลายสหรัฐฯ โดยการระดมสรรพกำลังทั้งมวลมาต่อกรด้วย แต่ถ้ามาศึกษาโดยละเอียด จะพบว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในยุคโบราณซุนวูก็เคยนำเสนอแนวคิดทำนองนี้มาก่อนแล้ว แม้กระทั่งได้เคยสรุปว่าชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ชัยชนะที่ไม่ต้องทำสงครามให้เสียทหารแม้แต่คนเดียว ส่วนในภาคพื้นยุโรปนักการทหารอย่างเคลาส์เซวิคส์ก็ได้เคยนำเสนอแนวคิดในทำนองนี้มาแล้วเมื่อต้นยุคสมัยใหม่ (Modern World) และเกิดอิทธิพลต่อความคิดทำให้ประเทศเล็กๆในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้วางแนวทางในการป้องกันตนเองแบบที่เรียกว่ายุทธศาสตร์การต่อสู้ป้องกัน ประเทศแบบเบ็ดเสร็จ (Total Defensive Strategy) เวียดนามเหนือก็ใช้แนวคิดนี้ในการทำสงครามกับสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือก็ใช้แนวคิดนี้มาเผชิญหน้ากับสหรับฯด้วยการสร้างอาวุธนิวเคลียร์อย่างทุ่มเท ตลอดจนมีการพัฒนานักรบไซเบอร์ที่มีคุณภาพในระดับโลกได้ทีเดียว ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยในการโจมตีระบบการเงินของโลกตะวันตกและตลาดหุ้นหลายครั้งว่าอาจจะเป็นฝีมือของนักรบไซเบอร์เกาหลีเหนือ ซึ่งเชี่ยวชาญในการเป็นแฮกเกอร์ก็ได้ สงครามการก่อการร้าย (Terrorism Warfare) หรือสงครามจรยุทธในเมือง (Urban Gorilla Warfare) ก็เป็นอีกบางยุทธวิธีที่ประเทศที่อ่อนด้อยกว่าทางกำลังทหารจะนำมาใช้กับประเทศที่เข้มแข็งกว่า หรือแม้แต่การพยายามโค่นล้มฝ่ายรัฐบาลที่เข้มแข็งกว่าทางทหารด้วยการใช้วิธีการก่อการร้าย โดยเข้าโจมตีในจุดที่อ่อนแอ และยากจะปกป้องก็เป็นบางวิธีการที่ใช้ได้ผล อนึ่งเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้อย่างได้ผลในยุคดิจิตอล ก็คือ สงครามสารสนเทศ (Information warfare) หรือปฏิบัติการสารสนเทศ (Information operation) อย่างไรก็ตามปัจจัยชี้ขาดในการทำสงครามนั้นก็คือประชาชนในประเทศที่มีความเป็นปึกแผ่น และมีความมุ่งมั่นในการที่จะฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อเอาชนะสงครามให้ได้ในที่สุด ดังนั้นการใช้ปฏิบัติการสารสนเทศ จึงเป็นได้ทั้งเครื่องมือในการบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม และสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นในชาติ แน่นอนว่าการทำแต่ปฏิบัติการสารสนเทศ โดยไม่มีประจักษ์พยานที่ชัดเจนมาสนับสนุนเพื่อให้เกิดความสามัคคีของชนในชาติ เช่น การปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกว้างออกไปทุกที หรือการปล่อยให้ที่ดินตกอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไร้ที่ทำกินก็ยากที่จะไปปลุกระดมให้คนเหล่านั้นลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ ในทางตรงข้ามหลายประเทศกลับมองว่าประชาชน คือศัตรูจึงพยายามใช้ IO ในการแบ่งแยกประชาชนและปกครอง แม้จะยึดกุมอำนาจในการปกครองได้แต่ก็ไม่อาจสร้างความมั่นคงในระยะยาว และไม่อาจดำรงไว้ซึ่งยุทธศาสตร์การต่อสู้ป้องกันประเทศแบบเบ็ดเสร็จได้ แม้จะมีการวางแผนมาอย่างดีก็ตาม นอกจากไม่ทำตามแผนแล้วยังมีการดำเนินการในทางตรงข้ามกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ก็เท่ากับบ่อนทำลายขีดความสามารถในการทำสงคราม เพราะพลังอำนาจในการป้องกันประเทศถูกใช้ไปในทางสิ้นเปลืองไม่ตอบโจทย์ แม้จะมีศักยภาพทางทหารเหนือกว่าอย่างสหรัฐฯก็อาจพ่ายต่อประเทศที่ด้อยกว่าทางทหารอย่างจีนได้ อย่าว่าแต่ประเทศด้อยพัฒนาเลย