ปตท.ยอมรับแผนลงทุนแหลมฉบังเฟส 3 ล่าช้า ต้องรอบอร์ดอีอีซี ชี้ชัดผลประมูล หลังเอ็นพีซีได้รับการคืนสิทธิ์การประมูล มั่นใจผลงานปี 63 ฟื้นตัวจากปี 62 ที่ชะลอตัวรับอานิสงส์เกณฑ์ใหม่ IMO หนุนกลุ่มน้ำมันดี-เดินหน้าลงทุนอีอีซี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า การรื้อย้ายท่อก๊าซธรรมชาติ ท่อน้ำมันในเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ขณะนี้คงต้องรอภาครัฐว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร โดยตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรืออีอีซี ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการย้ายรื้อถอนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในเรื่องนี้ ซึ่งต้องวางแผนการทำงานร่วมกัน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเกี่ยวกับหลายพื้นที่ รูปแบบการดำเนินการอาจทำได้หลายส่วนเช่น การโยกย้ายปรับเปลี่ยนสิ่งติดตั้งไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมแทน โดยจะคำนึงไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคาดว่าจะเป็นหน้าที่ของเอกชนผู้ดำเนินธุรกิจตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเรือ F ยอมรับว่าในการลงทุนโครงการดังกล่าวล่าช้าออกไปจากแผนที่วางไว้หลังจากมีผู้เข้าร่วมประมูลคือ กลุ่มเอ็นพีซี ได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางและศาลพิพากษาให้กรรมการคัดเลือกคืนสิทธิ์การประมูล ดังนั้นต้องรอดูว่า กพอ.จะดำเนินการอย่างไรต่อ โดยในส่วนของ ปตท.มองว่าหากจะมีผู้เข้าร่วมประมูลกลับเข้ามาร่วมแข่งขันเพิ่มอีกรายถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและท้าทายมากขึ้น โดยโครงการนี้ ปตท.ร่วมทุนเสนอประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์,บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน สำหรับแนวโน้มการดำเนินการปี 2563 คาดว่าจะดีขึ้นจากปี 2562 เนื่องจากผลประกอบการในธุรกิจขั้นปลายจะดีกว่าปีนี้เช่น กลุ่มน้ำมันจะกลับมาเป็นระดับปกติ จากมาตรการขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ(IMO) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ที่กำหนดกำมะถันในน้ำมันเตาของเรือเดินสมุทรไม่เกินร้อยละ 0.5 และความชัดเจนของเศรษฐกิจโลกคาดว่าน่าจะดีขึ้นทั้งผลกระทบจากที่ปีนี้มีความไม่แน่นอน จากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน และกรณีประเทศอังกฤษถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิต (Brexit) โดยยังเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีในแถบอาเซียนจะยังเติบโต จึงคาดจะส่งผลดีต่อมาร์จินของปิโตรเคมีและน้ำมันจะขยับดีขึ้น ขณะที่กลุ่ม ปตท.ยังขยายการลงทุนต่อเนื่องในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)จะยังเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตที่สำคัญ ขณะที่ผลการดำเนินงานของ ปตท.ปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยผลประกอบการจะต่ำกว่าปี 2561 ที่มีกำไรอยู่ที่กว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบหลักจากสงครามการค้า ทำให้มาร์จินปิโตรเคมีลดต่ำลง โดยผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งแรก ทั้งเรื่องที่มาจากราคาปิโตรเคมีเริ่มทรงตัว มาร์จินโรงกลั่นฯขยับดีขึ้น เพราะเข้าใกล้ช่วงฤดูหนาวมีการสตอกน้ำมัน เพื่อใช้วันหยุดยาวประจำปีใหม่เทศกาลท่องเที่ยว ทั้งปีใหม่ และเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ยังมาจากช่วงครึ่งปีหลังนี้โรงงานของกลุ่ม ปตท.3 บริษัท ทั้ง บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (จีซี),บมจ.ไออาร์พีซี และ บมจ.ไทยออยล์ ไม่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ประจำปี(ชัทดาวน์)เหมือนกับช่วงครึ่งปีแรก โดยการพิจารณาสัญญาณทางธุรกิจที่ดีขึ้น คณะกรรมการ ปตท.จึงเห็นชอบให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2562 ในอัตรา 0.90 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 25,707 ล้านบาท