มก.แจกวิทยุแทนหนังสือ /เดินหน้าพัฒนาเกษตรกรอีสาน ขอนแก่น : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมธนาคารเพื่อการเกาตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. จ.ขอนแก่น รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พร้อมด้วย นายโกเมนทร์ โคตรศรีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส.ขอนแก่น เป็นประธานในเปิดโครงการโรงเรียนเกษตรทางอากาศ หลักสูตรการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ ซึ่ง ธกส.ขอนแก่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ มก. ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้นตามการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ผ่านการรับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการดังกล่าว 40 คน รศ.ดร.วิโรจ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการโคเนื้อของไทยยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จากข้อมูลการสำรวจของ มก. พบว่าไทยมีความต้องการในขั้นตอนของการผลิตเพื่อการบริโภคอยู่ที่ 1,260,000 ตัวต่อปี แต่กลับผลิตได้ที่ 970,000 ตัวต่อปี ขณะที่จังหวัดที่เลี้ยงโคเนื้อมากกว่า 100,000 ตัว 5 อันดับแรกของประเทศ ประกอบด้วยนครราชสีมา 226,610 ตัว รองลงมาคือสุรินทร์ 217,192 ตัว ศรีษะเกษ 206,028 ตัว อุบลราชธานี 202,431 และกาญจนบุรี 199,079 ขณะที่ขอนแก่นอยู่ในอันดับที่ 13 มีกำลังการผลิตที่ 120,861 ตัวต่อปี “เรื่องความต้องการของตลาดในประเทศและส่งออกปี 2559-2560 นั้นมีการคาดการณ์ว่าไทยจะต้องนำเข้าโคเนื้อมากกว่า 300,00 ตัว จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศได้ ดังนั้นการปรับกลยุทธ์ในกระบวนการผลิตด้วยการส่งเสริมให้กับเกษตรกรของไทย นำร่องในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ได้ดำเนินการว่าด้วยต้นแบบโรงเรียนเกษตรทางอากาศ จะเป็นการพัฒนาระบบและวิธีการโคเนื้อในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกษตรได้รับความรู้ตามต้องการของตลาดและยังคงสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง โดยโรงเรียนเกษตรทางอากาศนั้นจะเป็นการให้ความรู้ที่ผสมผสานวิธีการฝึกอบรมในรูปแบบการใช้สื่อผสม เน้นหนักในพื้นที่ชานเมืองและชนบท ได้เข้าถึงการเรียนรู้ด้านการเลี้ยงโคเนื้อที่ถูกหลักวิชาการและการรับทราบถึงสภาวะหรือเหตุการณ์ต่างๆของการเลี้ยงโคเนื้อที่เท่าทันต่อสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในภาพรวม” รศ.ดร.วิโรจ กล่าว และว่า กระบวนการการจัดการเรียนการสอนนั้นเกษตรกรจะสามารถศึกษาข้อมูลโดยตรงกับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผ่านทางระบบอินเตอร์เนตที่ www.radio.ku.ac.th ขณะเดียวกันยังคงมีการจัดทำแอพพลิเคชั่น KURADIO มาใช้ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคสามารถรับฟังการสอนของ บุคลากรในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน ทาง มก.และ ธกส. ได้ดำเนินการแจกจ่ายวิทยุทรานซิสเตอร์ ให้กับเกษตรกรรายละ 1 เครื่อง เพื่อรับฟังการเรียนการสอนผ่านสถานีวิทยุ มก.เครือข่ายทั่วประเทศ คลื่นความถี่ AM 1314 kHz. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.30 o. – 17.00 น. อย่างไรก็ตามโครงการโรงเรียนเกษตรทางอากาศ ได้ดำเนินการปีนี้เป็นรุ่นแรก และจะเปิดทำการเรียนรการสอนระยะเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 1-31 มี.ค.2560 รวม 23 หลักสูตร โดยเกษตรจะต้องรับฟังอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งหลักสูตร โดยก่อนสำเร็จการเรียนการสอนไปแล้วนั้นทุกคนจะต้องสอบเพื่อจบหลักสูตร หากสอบผ่านจะได้รับประกาศนียบัตร จาก มก. รับรองอีกด้วย