จากข้อมูลในระบบ 43 แฟ้มมาตรฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส พบว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปได้รับการคัดกรองการติดบุหรี่ จำนวน 156,792 คน พบว่าสูบบุหรี่ 32,427 คน สูบบุหรี่แต่เลิกแล้ว 6,347 คน ได้รับการบำบัด 22,936 คน เลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 297 คน เลิกได้ 3 เดือน 171 คน เลิกได้ 6 เดือน 386 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2562) ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนคือกลุ่มเสี่ยงในการเข้าสู่วังวนการสูบบุหรี่ นางรุสณี มะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาสมีการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบอย่างเข้มข้นมากว่า 10 ปี ส่งผลให้อัตราการบริโภคยาสูบลดลงตั้งแต่ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 25.7 และปัจจุบันลดลงเหลือ ร้อยละ 20 แต่ก็ยังสูงกว่าระดับประเทศ “ตลอดระยะเวลา 10 ที่ผ่านมาเราทำงานท่ามกลางปัญหาสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ปลายด้ามขวาน ซึ่งเรื้อรังมากว่า10 ปี การทำงานควบคุมยาสูบถามว่าทำงานยากไหมถือว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยากเรียกได้ว่าแทบมองไม่เห็นภาพว่าเราจะทำงานสำเร็จได้อย่างไร” สำหรับการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบและการช่วยเลิกบุหรี่ อาศัยความร่วมมือของคนในพื้นที่เป็นหลัก ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุข หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และที่สำคัญที่สุดคือผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ประชาชน ที่ช่วยสะท้อนปัญหา และถอดบทเรียนจนนำไปสู่การกำหนดแผนการแก้ไขปัญหา นางรุสณี กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนการดำเนินงานควบคุมยาสูบทั้งระดับจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) โดย ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย และโครงการสนับสนุนการควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์แบบบูรณาการในระดับเขตและระดับจังหวัด โดยกรมควบคุมโรค นอกจากนี้ สสส. ยังสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ผ่านเครือข่ายคลินิกฟ้าใส เพื่อขับเคลื่อนการบำบัดและช่วยเลิกบุหรี่ ใน รพช. และสนับสนุนการขยายการดำเนินงานควบคุมยาสูบลงไปสู่ระดับชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านโครงการการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดย รศ.ดร.มณฑา เก่งพานิช ซึ่งมีการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมา 2 ปีแล้ว ด้าน นายฮัสนาน หะยีเจ๊ะเล๊าะ ประธานชมรมเยาวชนอัลฟารุกบ้านกือทอง จังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงานชวนช่วยเลิกบุหรี่ ว่า จากสภาพแวดล้อมในพื้นที่และการเกิดขึ้นของนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า บุหรี่คือต้นตอของยาเสพติดทั้งหมด จึงขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบในชุมชน โดยใช้โมเดลการลดละเลิกบุหรี่ที่เรียกว่า “ชีฟะฮ์โมเดล” “ชีฟะฮ์โมเดลเป็นนวัตกรรมเลิกบุหรี่ที่ใช้การสอดแทรกหลักศาสนาโดยใช้สโลแกนที่ว่า เลิกบุหรี่ได้สุขภาพแล้วก็ได้ผลบุญด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายในการที่จะเข้ามาร่วมหรือว่าพยายามที่จะลด ละ เลิกบุหรี่ เป็นจำนวนมาก” นายฮัสนาน กล่าว นายฮัสนาน กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2559 มีผู้ที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลิกบุหรี่ได้ ทั้งหมด 10 คน จากเป้าหมาย 49 คน ส่วนที่เหลืออยู่ในช่วงพยายามเลิก และมีการติดตามอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของ zone care ที่ไม่ใช่ติดตามแบบกำชับว่าต้องเลิกให้ได้ แต่เป็นกระบวนการติดตามในรูปแบบของการเสริมแรง เสริมพลังให้กำลังใจ ขณะที่เยาวชนที่เข้าร่วมกับชมรมเยาวชนอัลฟารุก บ้านกือทอง บอกตรงกันว่า เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมแล้วจะต้องเลิกบุหรี่ ซึ่งก็จะมีคนคอยแนะนำ เริ่มจากค่อยๆ ลดปริมาณการสูบ จนในที่สุดก็สามารถเลิกได้ ทำให้ร่างกายแข็งแรง เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายก็ไม่เหนื่อยง่าย ขณะที่นายอับดุลเลาะ สาและ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านลาไม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงบทบาทของ รพ.สต.ในการชวน ช่วย เลิกบุหรี่ว่า จะมีการประชุม อสม.ทุกเดือน เพื่อขับเคลื่อนการรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่ และที่สำคัญคือในกลุ่มอสม. เอง หากพบว่าสูบบุหรี่ก็จะต้องลด ละ เลิกให้ได้ กฎเหล็กสำคัญคือ อสม.ทดแทนถ้าเป็นผู้ชายต้องไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ได้ดำเนินการมัสยิดปลอดบุหรี่ ซึ่งในชุมชนมีมัสยิด 6 แห่ง ดำเนินการสำเร็จแล้ว 2 แห่ง คือมัสยิด หมู่ 4 บ้านบองอ และมัสยิดศูนย์เยาวชนบ้านกือทอง หากพบว่ามีการสูบบุหรี่ก็จะเข้าไปตักเตือนพร้อมย้ำว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการ ลด ละ เลิกบุหรี่ คือความเข้มแข็งของชุมชนและความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ด้านนายมหะหมัดตอเฟดหะยีด๊ะ กรรมการมัสยิดอัลฮิดายาตุลอิสลามียะห์อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เล่าถึงแรงจูงใจในการขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ว่า ตามหลักศาสนาอิสลามมีข้อห้ามเรื่องบุหรี่ชัดเจน เพราะบุหรี่คือความสะอาดและสุขภาพของตัวเราโดยเป็นการทำงานร่วมกัน 4 ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.)สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)และชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จจากความร่วมมือที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมัสยิดในอำเภอบาเจาะ และหลังจากนี้จะต่อยอดจากเรื่องมัสยิดปลอดบุหรี่ ไปสู่การนำเทคโนโลยีมาช่วยดูแลสุขภาพปากและฟันของผู้ที่สูบบุหรี่ แม้วันนี้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า หากนึกถึงพื้นที่ปลายด้ามขวาน ภาพที่ปรากฎขึ้นมาภาพแรก คือสถานการณ์ความไม่สงบและความสูญเสียต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วการขับเคลื่อนงานด้านสังคมในพื้นที่ ก็ไม่เคยลดน้อยถอยลงเหมือนเช่นความพยายามชวนช่วยเลิกบุหรี่ ที่ขับเคลื่อนโดยใช้ศาสนาเป็นแกนหลักเพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ ป้องกันเยาวชนในพื้นที่ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ที่ถือเป็นเส้นทางไปสู่วังวนของยาเสพติด