คณะครุศาสตร์ จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบก่อตั้ง เปิดวทีคณาจารย์ นศ.แสดงผลงาน-ประกวดการสอน สร้างเครือข่ายต่อยอดพัฒนาท้องถิ่น ดร.มนตรี เด่นดวง คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะครุศาสตร์จัดงาน 100 ปี 100 นวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อร่วมรำลึกและเฉลิมฉลองที่ มรภ.สงขลา มีการก่อตั้งและพัฒนาการมาจนครบ 100 ปี ในปี พ.ศ.2562 โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การแสดงผลงานทางวิชาการและนวัตกรรมการเรียนรู้ของแต่ละหลักสูตรฝ่ายต่างๆ และประกวดการสอน (Teaching Contest) ประเภทคลิปวิดีโอ ประเภทครูผู้สอน และประเภทนักศึกษา เพื่อเป็นเวทีให้กับครู อาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจได้แลกเปลี่ยนความรู้ อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ก่อให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัย สร้างสรรค์งานวิชาการที่เข้มแข็ง ตอบสนองความต้องการทางสังคมและประเทศชาติ รวมทั้งนำความรู้ที่ได้จากการแสดงผลงานทางวิชาการและนวัตกรรม ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น ดร.มนตรี กล่าวว่าคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ประกอบด้วย 12 หลักสูตร จัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี8 สาขาวิชา ได้แก่ ครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา พลศึกษา การศึกษาปฐมวัย และ การศึกษาพิเศษ-ภาษาไทย ซึ่งคณะได้ร่วมมือกับคณะต่างๆ ใน 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และ สังคมศึกษา อีกทั้งมีการสนับสนุนการผลิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาชีพครู 1 สาขา และครุศาสตรมหาบัณฑิตอีก 3 สาขาวิชา ได้แก่ หลักสูตรและการสอน การศึกษาพิเศษ และ การบริหารการศึกษา การจัดงานในครั้งนี้จึงถือเป็นการเปิดเวทีให้อาจารย์และนักศึกษาทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ได้มีส่วนร่วมแสดงผลงานด้านนวัตกรรมการเรียนการสอน เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี มรภ.สงขลา อ.นิดาริน จุลวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า คณะครุศาสตร์เป็นส่วนงานวิชาการของมหาวิทยาลัยที่มีภารกิจหลักผลิต พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลและความต้องการของท้องถิ่นในเขตบริการ เป็นการสืบทอดบทบาทและภารกิจหลักด้านการฝึกหัดครูมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 ที่เปิดรับนักเรียนการฝึกหัดครูในจังหวัดสงขลาเป็นครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ที่มีพระราชประสงค์ปรับปรุงและขยายการจัดการศึกษาอย่างรีบเร่งให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ จึงจําต้องตระเตรียมครูและเพื่อรองรับการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกาศศึกษาในปี พ.ศ.2464 ซึ่งถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาภาคบังคับฉบับแรกของประเทศไทย