"อธิบดีคพ."ยันค่าฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในช่วงเฝ้าระวัง แต่ยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ คาดปลายสัปดาห์จะกลับสู่สภาพปกติ เสนอที่ประชุมให้ยกเลิกใช้รถยนต์ดีเซล แก้ปัญหาจบแน่ ขอปชช.อย่าตื่นตระหนก วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 16.00น. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. จนค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐานใน 15 พื้นที่ และในวันนี้ขยายตัวเป็น 33 พื้นที่ แต่ยืนยันว่าค่าที่เกินมาตรฐานยังไม่เป็นอันตรายสุขภาพ แต่จะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะค่าเกิน 50 ไมโครกรัมไปแล้ว อย่างไรก็ตามช่วงบ่ายที่ผ่านมา พบว่าค่าฝุ่นละอองลดลงทุกพื้นที่ เพราะมีฝนตกลงมาช่วย ซึ่งกรมอุตินิยมวิทยาพยากรณ์ว่า จากวันที่ 1 ต.ค. จะมีปริมาณฝนตกลงมามากขึ้น คาดว่าปลายสัปดาห์นี้จะกลับสู่สภาพปกติ เพราะขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง ยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการใดๆ ทั้งนี้นายกฯ ได้แจ้งที่ประชุมว่า สาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองเกิดจากสภาพอากาศ ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือ การใช้ยานพาหนะโดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหา มีสัดส่วน 54 เปอร์เซ็นต์ และการเผาไหม้ในที่โล่ง 35 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆสร้างฝุ่นละออง 3-5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น นายประลอง กล่าวว่า ในที่ประชุมรับทราบแนวทางแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่จะมีแนวทางแก้ปัญหาใน 3 ระยะ คือก่อนเกิดวิกฤติ ช่วงเกิดวิกฤติ และหลังวิกฤติ อาทิ การแก้ปัญหาในเชิงพื้นที่กทม.หากค่าฝุ่นเกิน 50 ไมโครกรัม จะเพิ่มจุดตรวจควันดำ จากเดิม 10 จุด เป็น 21 จุด และหากปริมาณฝุ่นเกิน 75 ไมโครกรัม ผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจตามพ.ร.บ.สาธารณสุข สามารถออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นการประกาศปิดโรงเรียน 437 แห่ง เมื่อปีแล้ว ส่งผลให้ค่าฝุ่นลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากให้ปัญหานี้มันจบ คือต้องเลิกใช้รถยนต์ดีเซล ซึ่งก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ขอให้ตระหนักกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถติดตามค่าฝุ่นละอองได้ด้วยตัวเอง ผ่านแอพพิเคชั่น Air4Thai ที่จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯกำชับเรื่องการออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือใช้ชีวิตกลางแจ้ง ในช่วงที่มีฝุ่นมีฝุ่นละออง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก คนชรา และผู้ป่วย ในเบื้องต้นหากปริมาณหน้ากากไม่เพียงพอ จะประสานกระทรวงสาธารณสุข นำมาแจกจ่าย