นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความใน เพจเฟซบุ๊กชื่อ Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า....
“เงินบาทกับเศรษฐกิจไทย” สำนักข่าวบลูมเบิร์กยกย่องเงินบาทเป็น safe haven เพราะแข็งค่ามากสุดในปีนี้ ท่ามกลางหลายประเทศที่ย่ำแย่จากสงครามการค้าโดยตรง เช่น เงินวอนเกาหลีใต้ และเงินหยวน และวิจารณ์ถึง 2 ปัจจัยที่ยังหนุนเงินบาท หนึ่ง เป็นเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อย และ สอง โอกาสที่ธปท. จะลดดอกเบี้ยลงไปอีกมีน้อย เพราะเกรงจะกระตุ้นภาคครัวเรือนที่มีหนี้สูงอยู่แล้วให้กู้มากขึ้น บทความที่ชี้เป้ามาที่เงินบาทอย่างนี้ ทำให้ในช่วงรัฐบาลลุง(1)มีเงินไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้จำนวนมาก เพื่อกินส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งถ้ามีการนำเงินนี้ไปใช้ขยายฐานอุตสาหกรรม ประเทศจะก้าวหน้ามาก แต่เนื่องจากเอกชนไม่ขยายงานด้านนี้ ธุรกิจที่ฉวยเอาเงินนี้ไปใช้ก็คืออสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งมาวันนี้ อสังหาริมทรัพย์ล้นตลาดเสียแล้ว ข่าวระบุว่า นางชูขวัญ นิลศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานวางผังเมือง สำนักการวางผังเมืองและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวในหัวข้อ “ผังเมืองใหม่กับผลกระทบต่อธุรกิจคอนโดมิเนียม” ว่า ปัจจัยท้าทายของธุรกิจอสังหาฯในปี 2563 มีรอบด้าน ไล่เรียงตั้งแต่ 1. กำลังซื้อภาคอสังหาฯที่อ่อนไหวจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สงครามการค้าจีน-สหรัฐที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 2. สถานการณ์ตลาดที่ดีมานด์ชะลอ ซัพพลายใหม่ลดจำนวนลง และมูลค่าโครงการยังสูง 3. ภาระหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของคนไทยสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก 4. มาตรการควบคุมสินเชื่อเกิดใหม่ เช่น มาตรการ LTV 5. พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 6. ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2562 อยู่ในภาวะชะลอตัวลง ประเมินทั้งปีติดลบประมาณ 7% โดยตลาดคอนโดมิเนียมอาจติดลบที่ประมาณ 14% เป็นที่น่าเสียดาย ที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการคลังไม่ได้หารือใกล้ชิดกับแบงค์ชาติ เพื่อออกมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์แต่เนิ่นๆ ไม่ว่า Loan to Value Ratio หรือ Debt Service Ratio เพิ่งจะมากำหนดเร็วๆ นี้ เอกชนจึงบ่นอุบ เพราะคิดว่ามีผลซ้ำเติมปัญหา ผมคาดว่า ทรัมป์จะยอมให้การเจรจากับจีนจบลงชั่วคราวในไตรมาสสี่ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกประเทศทั่วโลก แต่มีบางบริษัทที่ช้ำในจากสงคราม และปิด หรือลดคนลงไปแล้ว ซึ่งกว่าการค้าขายจะฟื้นตัวกลับไประดับเดิม ก็ต้องใช้เวลาหนึ่ง ดังนั้น สภาวะอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งเกินความจำเป็น จะท้าทายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกระยะหนึ่ง