หากกล่าวถึง “ความเป็นจริงเสมือน” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วีอาร์ (VR : Virtual Reality)” ก็เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอันล้ำสมัยประเภทหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้สามารถรับรู้ เรียนรู้ สิ่งต่างๆ ได้ดุจดังเสมือนว่า เข้าไปอยู่ในท่ามกลางสถานการณ์ หรือสถานที่จริง ซึ่งถูกจัดทำจำลองอยู่ในอุปกรณ์วีอาร์ข้างต้น โดยอุปกรณ์วีอาร์ที่ว่า ก็เป็น “จอแสดงผลแบบสวมศีรษะ” หรือที่เรียกว่า “เอชเอ็มดี (HMD : Head Mounted Display)” ซึ่งภายในก็จะมีฮาร์ดแวร์ที่ส่งข้อมูลแสดงผลต่อประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นภาพต่างๆ โดยภาพที่แสดงออกมา ก็เป็นภาพแบบสามมิติ ผ่านจอภาพที่มีขนาดเล็ก สามารถเคลื่อนไหวได้ ตามการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ อันเป็นไปตามข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นไว้ในอุปกรณ์ดังกล่าว นั่นเอง ทั้งนี้ ในส่วนของอุปกรณ์จอแสดงผลของวีอาร์นั้น มีแนวโน้มการพัฒนาไปในทิศทางที่จะให้มีขนาดเล็กลงกว่าที่เป็นอยู่ ถึงขนาดว่าจะทำให้มีขนาดเล็กลงเท่าแว่นตาธรรมดา ที่ผู้คนสวมใส่กันทั่วไปเลยทีเดียว ส่วนฟังก์ชันอื่นๆ ของวีอาร์ ก็จะมีอุปกรณ์หูฟังระบบสเตอริโอ ให้สามารถฟังเสียงได้อย่างคมชัด และรอบทิศทาง นอกจากนี้ ก็ยังมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น “ถุงมือรับข้อมูล (Data glove)” เพื่อให้ผู้ใช้เคลื่อนไหวตอบสนองต่อภาพที่ปรากฏในวีอาร์ได้ รวมถึงยังมีอุปกรณ์ต่างๆ รับข้อมูล ให้ผู้ใช้ได้ใช้ตอบสนองกับสภาพแวดล้อม หรือสถานการณ์จำลองที่ปรากฏในจอของวีอาร์ แบบราวกับว่าผู้ใช้ได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ หรือสภาวะแวดล้อมนั้นด้วย ด้วยประการฉะนี้ “วีอาร์” จึงถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับจำลองการฝึกฝนด้านต่างๆ ที่ให้ผู้ฝึกสามารถฝึกฝนเพิ่มพูนความรู้และทักษะความชำนาญตามข้อมูลที่ปรากฏได้มากขึ้น รวมไปถึงการรับรู้ และเรียนรู้ ให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการบันเทิงด้วยสถานการณ์ที่จำลองจากของจริง อาทิเช่น การเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะด้านการบินของบรรดานักบิน การฝึกฝนด้านการปราบปราบหรือจู่โจมเป้าหมายของบรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง การจำลองสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถทำให้ผู้ใช้ได้เห็นสถานที่นั้นๆ จริง จนราวกับว่าได้ไปทัวร์ท่องเที่ยวยังสถานที่ดังกล่าว การเรียนรู้ฝึกฝนด้านการแพทย์ ที่ผู้ศึกษาทางการแพทย์ ได้ใช้เรียนรู้ฝึกฝนด้านต่างๆ เช่น การผ่าตัดศัลยกรรม แบบราวกับว่าได้ผ่าตัดให้กับผู้ป่วยคนไข้ตัวเป็นๆ ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงด้านการแพทย์แล้ว เทคโนโลยีวีอาร์ ก็ได้เข้ามีบทบาทมากขึ้นทั้งต่อแพทย์ผู้ทำการรักษา และแม้แต่คนไข้ผู้ป่วยเอง อย่างมีนัยยะสำคัญ ล่าสุด ทางคณะทีมงานของโรงพยาบาลเด็กลูซิลแพ็คการ์ด แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมืองสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แสดงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีวีอาร์ที่มีชื่อว่า “สแตนฟอร์ด เวอร์ชวล ฮาร์ท (Stanford Virtual Heart)” อันเป็นผลงานการประดิษฐ์และพัฒนาโดยคณะแพทย์ด้านโรคหัวใจของโรงพยาบาลดังกล่าว ประสิทธิภาพของวีอาร์รุ่นนี้ นอกจากทำให้แพทย์และนักศึกษาแพทย์ สามารถเรียนรู้ฝึกฝนด้านการผ่าตัดหัวใจได้ดียิ่งขึ้น ก็ยังสามารถทำให้ผู้ป่วย และผู้สนใจทั่วไป สามารถเรียนรู้เข้าใจของระบบหัวใจได้เป็นอย่างดีด้วย โดยผู้ใช้สามารถแบบราวกับว่า เข้าไปเที่ยวท่องในอวัยวะหัวใจได้อย่างเสมือนจริงกันเลยเดียว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของวีอาร์ชนิดนี้ ทั้งนี้ นอกจากผู้ใช้สามารถท่องเที่ยวภายในอวัยวะหัวใจแล้ว ก็ยังสามารถจับต้อง หยิบจำแนก ชิ้นส่วนภายในหัวใจได้อย่างเสมือนจริงอีกด้วย ส่งผลให้ผู้ใช้สามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ต่อระบบการทำงานของอวัยวะหัวใจได้แบบชัดเจนเป็นอย่างดี ถึงขนาดที่ทำให้เด็กผู้ป่วยโรคหัวใจรายหนึ่ง วัย 12 ปี และบิดาของเขา สามารถเข้าใจต่ออวัยวะหัวใจแบบชนิดที่เอ่ยปากออกมาว่า ชัดเจนเสียยิ่งกว่าได้รับคำอธิบายจากแพทย์เลยด้วยซ้ำ เช่น ได้รู้และเข้าใจในลักษณะ และการทำงานของลิ้นหัวใจในแต่ละส่วน เป็นอาทิ โดยความรู้และความเข้าใจที่ได้รับ ก็จะช่วยให้บิดา สามารถดูแลบุตรที่ป่วยด้วยโรคหัวใจได้อย่างถูกวิธี ในยามกลับบ้านหลังรับการผ่าตัดจากคณะแพทย์ นั่น!...ก็ถือเป็นคุณประโยชน์ด้านความรู้ของเทคโนโลยีอันสุดล้ำชนิดนี้ แต่เมื่อกล่าวถึงในเชิงธุรกิจ ปรากฏว่า ตลาดของวีอาร์มีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยคาดการณ์กันว่า จะทะยานขึ้นไปถึงกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับมูลค่าที่จะได้เห็นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า