เด็กไทยไม่ได้โง่ แต่รูปแบบการสอบ การวัด การประเมินผล พยายามบอกว่าเด็กโง่ และทำให้เด็กไทยขาดอิสรภาพในการมี Passion ในการดำเนินชีวิต เด็กไทยไม่ได้โง่ เพราะสื่อต่างๆ ได้เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนและผลการจัดอันดับของ World Economic Forum (WEF) รายงานว่าคุณภาพการศึกษาเราอยู่อันดับที่ 8 ของอาเซียน และกระแสต่างๆ ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มองหาที่มาของการจัดอันดับนี้ ซึ่งแท้จริงแล้วเราไม่ควรต้องไปใส่ใจผลการจัดอันดับ เพราะการจัดอันดับมาจากตัวชี้วัดที่ไม่เชื่อหลายตัว อาทิ คุณภาพของบัณฑิตในมุมมองของนายจ้าง ตัวอย่างเช่น หากประเทศไทยทำธุรกิจกับ ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ประเทศไทยเราคาดหวังกับคุณภาพของบัณฑิตที่ต่างกัน หากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เราคาดหวังว่าบัณฑิตของไทยเราต้องได้คะแนน 9 เต็ม 10 แต่ในความเป็นจริงได้ 6 คะแนน ขณะที่เราคาดหวังว่าคุณภาพบัณฑิตของประเทศเพื่อนบ้านน่าจะต่ำกว่าเราซึ่งเป็นการประเมินลักษณะ Subjective Measures อีกประการหนึ่งเด็กไทยไม่ได้โง่ แต่รูปแบบการสอบ การวัด การประเมิน พยายามบอกว่าเด็กโง่ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงคิดว่าลูกตนเองโง่ เพียงเพราะไปเอาเกณฑ์ที่ไม่ถูกต้องบางเกณฑ์มาวัดหรือไม่ใช้วิธีการเปรียบเทียบลูกตนเองกับคนอื่น จึงทำให้เกิดการสร้างกระบวนการที่ทำให้ลูกของตนเองกลายเป็นเด็กโง่จริงๆ และทำให้เกิดการการส่งลูกไปเรียนติว เรียนพิเศษ เรียนรู้ความสามารถพิเศษเฉพาะทางอื่นๆ เพิ่มเติมจนบางครั้งหนักไปจนถึงลงมือทำการบ้านทั้งหมดแทนลูก เป็นต้น ซึ่งจริงๆแล้วเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ติดตัวมาที่ต่างๆกัน และจะดีมากถ้าเด็กสามารถค้นหาตัวตนพบ (โดยพ่อแม่คอยช่วยสนับสนุนในการค้นหาตัวตนหรือพรสวรรค์) โดยการสรรหาสิ่งที่เด็กต้องการเรียนรู้ ทำงาน หรืออยากพัฒนาตนเอง จึงนำพามาสู่การศึกษาขั้นพื้นฐานปกติ แต่การศึกษาต้องดูที่กระบวนการของการพัฒนาไม่ใช่ไปดูผลลัพธ์ โดยเฉพาะผลลัพธ์ผิดๆ อย่างคะแนนสอบ เป็นต้น ผู้ปกครองพ่อแม่และครูอาจารย์ที่ดีควรให้ความสำคัญกับเรื่องกระบวนการนี้ เพราะเด็กไทยขาดอิสรภาพในการมี Passion ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการศึกษาของไทย (ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์, 2561) จากคำกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่ชัดเจนถึงกระบวนการของการศึกษา ความอิสระในการเรียนรู้ของเด็กไม่ได้เป็นไปตามพรสวรรค์ แต่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ขั้นตอนที่ผู้ใหญ่ในยุค 40-50 ปีย้อนหลังกำหนดกรอบไว้ให้ แต่ยังไม่มีการพัฒนาหรือหาจุดร่วมที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในบ้านเรา ตัวอย่างความหมด Passion ที่บุคคลผู้เป็นครูหรืออาจารย์ไม่ควรใช้ หรือเลิกทำให้เด็กเสียกำลังใจในการเรียนรู้หรือค้นหาตนเองอยู่คือคำพูดที่ส่อไปทางเจตคติลบ ยกตัวอย่างส่วนตัวของผม... ผมเคยถูกประจานหน้าห้องเรื่องทำงานในระหว่างเรียน “ทำไมไม่ตั้งใจเรียน ไม่รักดีแบบนี้คุณจะไม่มีทางจบภายใน 5 ปี แน่นอน” จากคำพูดของอาจารย์ที่ผมเคารพและเข้าใจในความหวังดีตอนนั้น ต้องยอมรับว่า…การเป็นนักแสดงไปพร้อมกับการเรียนเป็นเรื่องที่ยากโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เรียนสายสถาปัตยกรรม ที่ต้องเรียนหนักและมีโปรเจ็กต์เยอะจริงๆ ฟังแล้วก็ดูเหมือนไม่มีอะไรสำหรับเด็กในยุค 40-50 ปีนั้น เพราะเราถูกกำหนดด้วยกรอบทางความคิด แต่กับเด็กยุคใหม่ผมไม่เห็นด้วยหากจะใช้วิธีการพูดประจานลักษณะนี้ เพราะอะไร บางครั้งชีวิตของเด็กคนหนึ่งคนนั้นบางทีเขาอาจไม่ได้ดราม่าที่ต้องทำงานหาเงินเรียนเอง เขาอาจเป็นครอบครัวชนชั้นกลางที่สามารถส่งเสียเล่าเรียนได้ แต่เขาสนใจทักษะการใช้ชีวิตนอกห้องเรียนไปพร้อมกับการเรียนในห้องเรียน มี Life Style ที่มองโลกแบบอิสระไม่ตามกระแสหลัก ทำไมจึงต้องถูกตัดสินจากสังคมว่า เป็นพวกไม่ขาดก็เกินจากค่ากลาง และผมเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้เด็กทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย (ถ้าเขามีความคิดอยากทำ) เพราะทุกวันนี้ผมยังใช้ชีวิตแบบนี้เช่นกันเรียนรู้และทำงาน แต่สิ่งที่เพิ่มเติมและทำให้เกิดทักษะส่วนตัว คือ Working Style แบบ Multidisciplinary นั่นคือ ทำหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ผ่านมา 30 ปี มายาคติในเรื่องการจัดประเภทคนในสังคมยังคงอยู่ เราต้องเป็นคนแบบใดแบบหนึ่ง เช่น อาจารย์ต้องสอน ทำวิจัย และเขียนบทความ ทำงาน 9 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็นแบบโรงงานอุตสาหกรรม ใครออกนอกกรอบนี้ถือว่าผิดระเบียบหรือ? ส่วนตัวผมกลับมองมุมต่าง ที่มีโอกาสได้เรียนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เข้าใจในศาสตร์ใหม่ใช้ประสบการณ์จริงมาสอน แค่ค้นตำราแล้วมายืนพูดหน้าห้องคงไม่พอ เพราะไม่รู้แจ้งเห็นจริง มันทำให้ผมตั้งคำถามหรือเมื่อตัวเด็กสงสัยในสิ่งที่ผมพูด ‘มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?’ บอกได้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงไวจนการศึกษาตามไม่ทันโลกความเป็นจริง ผมจึงไม่ใช่นักการศึกษาในแบบที่กระทรวงศึกษาอยากให้เป็น แต่ขอยืนหยัดในแบบที่เป็นอยู่ ไม่ต้องมาจัดคำนิยาม หรือกำหนดให้ผมเป็นมาตรฐานเดียวกับอาจารย์ทั้งประเทศ ดังนั้น จำเป็นไหมที่ชีวิตในมหาวิทยาลัยต้องเรียนอย่างเดียว จำเป็นไหมอาจารย์ต้องวนเวียนอยู่แค่แวดวงวิชาการถึงจะเป็นที่ยอมรับ โชคดีที่ผมเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ไม่เคยยึดติด มหาวิทยาลัยไม่เคยกำหนดชีวิตให้ผมเดิน ถึงกระนั้นการผ่าฟันเพื่อไปสู่จุดยืนของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสังคมยังคงหลงอยู่ในมายาคติของการศึกษาแบบเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แล้วแบบนี้จะมาว่าเด็กไทยโง่ไม่ได้ เพราะบางทีเขาอาจฉลาดกว่าที่คุณคิดเพียงแต่คุณต่างหากที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเปลี่ยน ยึดเอากฎเกณฑ์เดิม ความคิดเดิมๆมายัดเยียดให้คนรุ่นใหม่ ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต