30 ก.ย. วันสุดท้ายในการทำงานของใครหลายคนในระบบวงการราชการ พร้อมกับเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัยเกษียณ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ชีวิต วัยเกษียณ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักเกิดความซึมเศร้า รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระและไร้ค่า จากที่เคยทำงานได้พบเจอสังคมและเพื่อนฝูง เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงต้องกลายเป็นผู้ที่อยู่บ้านเฉยๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่บั่นทอนจิตใจผู้สูงอายุ และทำให้เกิดความเบื่อหน่าย นอกจากนี้ สุขภาพที่เสื่อมลงทุกวันยิ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกซึมเศร้า ดังนั้น ผู้เกษียณอายุและลูกหลานควรมีการวางแผนเพื่อเตรียมตัวใช้ชีวิตหลังเกษียณ นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า งานอดิเรกที่เหมาะสำหรับผู้เกษียณอายุ ได้แก่ 1.เพาะต้นไม้ ทำกับข้าวหรือขนมจำหน่าย ทำให้เกิดความสุขและความเพลิดเพลิน ซึ่งเงินที่ได้ ทำให้ผู้สูงอายุเห็นว่าตนมีความสามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ 2.เล่นสมาร์ทโฟน ช่วยทำให้ผู้สูงอายุเพลิดเพลิน คลายเหงา เสริมสร้างกำลังใจ ช่วยฝึกสมองให้ได้ใช้ความคิด และเสริมสมาธิ 3.เข้าร่วมชมรมผู้สูงอายุหรือออกกำลังกาย เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ได้พบปะสังคมใหม่ๆ ได้พบเจอเพื่อนใหม่ ก่อให้เกิดความสดชื่นแจ่มใส ไม่เบื่อหน่าย อีกทั้งยังทำให้สุขภาพแข็งแรง นอกจากงานอดิเรกแล้ว ผู้เกษียณอายุควรดูแลสุขภาพ โดยรับประทานอาหารมีประโยชน์ เลือกทานอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อปลาซึ่งย่อยง่ายและมีคุณค่าทางอาหารสูง เลือกวิธีต้ม หรือนึ่ง แทนทอด เนื่องจากวัยเกษียณใช้พลังงานน้อยลง การรับประทานอาหารพลังงานสูงอาจจะทำให้อ้วนได้ นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยเลือกวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น เดินหรือเล่นโยคะ สิ่งที่สำคัญคือ ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดโรค ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังและรับประทานยาให้ต่อเนื่อง ซึ่งลูกหลานควรดูแลเอาใจใส่ เนื่องจากผู้สูงอายุอาจละเลยหรือหลงลืมได้