“รมช.ประภัตร” เดินสายสร้างการรับรู้เกษตรกรนาแปลงใหญ่ พัฒนาระบบการผลิตข้าว ตามมาตรฐานการรับรองแบบกลุ่ม เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด พร้อมชูกลุ่มนาแปลงใหญ่เดิมบาง ต้นแบบผ่านเกณฑ์รับรองแบบกลุ่ม สร้างชุมชนเข้มแข็ง เมื่อวันที่ 28 ก.ย. นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมสร้างความเข้าใจการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐาน การรับรองแบบกลุ่ม ในพื้นที่นาแปลงใหญ่ จังหวัดสุพรรณบุรีว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิต จำหน่ายและบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งในรูปของกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด การเชื่อมโยงตลาด และบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของสินค้าเกษตร ทั้งนี้ นาแปลงใหญ่ เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตและบริหารจัดการผลิตข้าว มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกรให้มีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตข้าวแบบเดิม โดยผสานเชื่อมโยงกันตั้งแต่การเพาะปลูกข้าวไปจนถึงการตลาด รวมทั้งการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน อาทิ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ทั้งนี้ กระบวนการรับรองการผลิตข้าว มีทั้งการรับรองรายเดี่ยว และการรับรองแบบกลุ่ม ซึ่งการขอการรับรองแบบกลุ่มนั้น จะช่วยประหยัดงบประมาณและเวลา สร้างความเข็มแข็งและความยั่งยืนในการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกร เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถขอการรับรองได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในพื้นที่โครงการนาแปลงใหญ่ ซึ่งบูรณาการงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมการข้าว เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกร ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแบบกลุ่ม “อย่างไรก็ดี การสร้างความยั่งยืนให้การผลิตข้าวไทย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้เวลา ความรู้ และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมทั้งองค์ประกอบด้านคุณภาพ คุณค่า และศักยภาพการแข่งขันในตลาด”รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว ด้าน นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเสริมว่า กระบวนการรับรองการผลิตข้าวแบบกลุ่ม เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถขอการรับรองได้รวดเร็วขึ้น โดยกลุ่มเกษตรกรต้องมีระบบการผลิตและระบบควบคุมภายในกลุ่ม (Internal Control System) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับรองว่า กิจกรรมการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและเชื่อถือได้ การมีระบบควบคุมภายในของกลุ่มเกษตรกรจะช่วยให้กลุ่มมีการบริหารงานเป็นระบบในลักษณะการประกันคุณภาพของกลุ่ม โดยใช้เอกสารต่างๆ เป็นเครื่องมือ ช่วยให้กลุ่มสามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามแนวทางความยั่งยืนหรือข้อปฏิบัติของกลุ่มที่ได้ตกลงกันไว้ “ที่ผ่านมา มกอช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ ยโสธร และสุรินทร์ โดยให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกรให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแบบกลุ่ม การพัฒนาเอกสารระบบควบคุมภายในกลุ่ม ตลอดจนส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรขอการรับรองแบบกลุ่มขอบข่าย การผลิตข้าว GAP/อินทรีย์ โดยบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของกรมการข้าวในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กลุ่มเกษตรกรก่อนที่จะขอการรับรองแบบกลุ่มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว สำหรับนาแปลงใหญ่ ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม ขอบข่ายข้าว GAP จำนวน 115 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม พื้นที่รวม 2,095 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 และปทุมธานี 1 ขณะที่ นางสวณีย์ โพธิ์รัง เลขานุการกลุ่มนาแปลงใหญ่เดิมบาง ตำบลเดิมบาง กล่าวว่า ปี 2558 กลุ่มฯ ได้เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ประชารัฐ ของกรมการข้าว โดยกลุ่มฯ ได้ส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ตามมาตรฐาน GAP และในปี 2560 กลุ่มฯ ได้มีการทดลองปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 เนื่องจากเป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ รวมทั้งมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 95 วัน ดูแลง่ายโดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ แทนสารเคมี ที่สำคัญขายได้ราคาสูง เพราะเป็นข้าวที่ต้องการของตลาด ปัจจุบัน กลุ่มฯ มีสมาชิกนาแปลงใหญ่ 165 ราย พื้นที่ 5,217 ไร่ ซึ่งทุกรายได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP สำหรับฤดูกาลนี้ กลุ่มฯ ได้ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 จำนวน 3,450 ไร่ เพื่อจำหน่ายผลผลิตข้าวให้กับโรงสีข้าวสุพรรณ ตามโครงการเชื่อมโยงตลาด ในราคา 10,500-10,900 บาท/ตัน ความชื้นที่ 25-28% ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 1,767 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และพันธุ์อื่นๆ เพื่อประกันความเสี่ยงการเกิดโรค และแมลง ทั้งนี้ กลุ่มฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่มขอบข่ายการผลิตข้าว GAP ของ มกอช. สมาชิกจำนวน 115 ราย โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยมีข้อดี คือ ช่วยกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ตามกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ หากไม่ผ่านมาตรฐานคนเดียว ทั้งกลุ่มก็ไม่ผ่านด้วย เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับคือตัวสมาชิกเอง แต่การทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดพลัง อันนำไปสู่ความเข้มแข็งของกลุ่มฯ และชุมชน เพราะเราถือคติที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งเกษตรกรไว้ข้างหลัง เพราะเราคือญาติพี่น้องกัน”