สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประเดิมเปิดสอนวิชา “การออกแบบชีวิต” (Life Design) ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 กว่า 300 คนจากทุกคณะ/สถาบันของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีกำหนดการเรียนการสอนระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม – 19 ธันวาคม 2562 ณ อาคารปัญญาวัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา  ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันฯ ได้ร่วมกับ กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ LIFEiS ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้เรียนในรูปแบบใหม่ ผ่านการเสวนาและมินิคอนเสิร์ตครั้งแรก "LIFE is..TALK & LIVE SHOW" ณ หอแสดงดนตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดย "นภ พรชำนิ" ร่วมเสวนาในหัวข้อ "LIFE OBSERVER" "ป๊อด โมเดิร์นด็อก" เสวนาหัวข้อ"LIFE PHILOSOPHER" และ อเล็กซ์ เรนเดล เสวนาหัวข้อ "LIFE EXPLORER"  รศ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "การออกแบบชีวิต" เป็นวิชาที่ไม่ได้ใช้การสอนเฉพาะจากภาคทฤษฎีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นวิชาที่ให้แนวคิดและทักษะชีวิตกับผู้เรียน เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน เพื่อร่วมสร้าง "ห้องเรียนที่มีชีวิต" จากการระดมทีมผู้สอนจากสหสาขาวิทยาการของสถาบันฯ เพื่อบรรยายและจัดกิจกรรมในหัวข้อที่อาจารย์แต่ละท่านเชี่ยวชาญ รวมไปถึงผอ.สถาบันฯ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสอนหัวข้อ "ความปลอดภัยในชีวิต" เพื่อหยิบยกประเด็นความปลอดภัยและความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตของนักศึกษามาเป็นโจทย์ในการออกแบบชีวิตที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ "ความเสี่ยงกับความสุข มักเกิดขึ้นคู่กันเสมอ สุขมากไม่ระวังก็เกิดความเสี่ยง และเมื่อเสี่ยงมากก็จะไม่มีความสุข สถาบันฯจึงสอนให้นักศึกษาคำนึงถึง  'ความเสี่ยง’ ที่อาจมาพร้อมกับ ‘ความสุข’ และ ‘ความทุกข์’  ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของชีวิตที่เราต่างต้องประสบ แต่อย่าลืมว่านี่เป็นสิ่งที่เราสามารถออกแบบได้" รศ.อดิศักดิ์กล่าว ด้าน อาจารย์ ดร.นนทสรวง กลีบผึ้ง หนึ่งในทีมผู้รับผิดชอบรายวิชา "การออกแบบชีวิต" กล่าวเสริมว่า "หัวใจสำคัญของวิชานี้ไม่ใช่แค่ชวนนักศึกษามาตั้งเป้าหมายและออกแบบชีวิต แต่สถาบันฯ มุ่ง ‘พัฒนากระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพและเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ให้กับผู้เรียน นี่เป็นสิ่งที่ทีมออกแบบชีวิตกำลังช่วยกันพัฒนาและต่อยอดงานไปสู่โครงการวิจัยของสถาบันฯ” ในการเสวนา "LIFE is..TALK & LIVE SHOW" "นภ พรชำนิ" ได้กล่าวฝากไว้ว่า "ไม่ว่าเส้นทางชีวิตจะยาวไกล หรือจะไปจบลงที่ไหน เราควรเริ่มต้นสังเกตการณ์ เปิดสัมผัสการรับรู้ให้รอบด้านอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือเก็บเกี่ยวข้อมูล ความรู้สึก ความนึกคิด ประสบการณ์ต่างๆ รอบตัว และประมวลความรู้สึกของตัวเอง เราควรถามตัวเองอยู่เสมอว่าเรารู้สึกอย่างไร พอใจในสิ่งไหน อยากเป็นแบบใดหากมีสิ่งที่เราไม่พอใจ สิ่งเหล่านั้นคืออะไร ในวันหนึ่งเราอาจจะมาถึงทางแยก วันนั้นเราจะสามารถเลือกและตัดสินใจในอนาคตในแบบที่เป็นตัวของเราได้อย่างแท้จริง” ขณะที่ "ป๊อด โมเดิร์นด็อก" กล่าวว่าเรื่องชีวิตเป็นเรื่องที่อยู่กับเราตลอดเวลา วิชานี้จึงเป็นเหมือนการมาพูดคุยกันในเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต  "Let's talk about life" คือ ให้ผู้สอนและผู้เรียนทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผู้สอนก็สามารถเรียนรู้จากผู้เรียนได้เช่นกัน อยากให้ทุกคนได้สำรวจตัวเองเพื่อที่จะได้เข้าใจตัวเอง และเข้าใจคนอื่นมากยิ่งขึ้น เมื่อเราเข้าใจตัวเอง และเข้าใจผู้อื่นแล้ว เราจะอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น และมีความสุข" ด้านอเล็กซ์ เรนเดล กล่าวว่า ตัวเองมาในฐานะ "Explorer" หรือ "ผู้ค้นหา"  มาร่วมแบ่งปันวิธีคิด วิธีวางแผน วิธีการทำงาน โดยเล่าจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ผ่านการเดินทาง และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “ทุกคนมีสิทธิที่จะออกแบบชีวิตของตัวเอง เราไม่สามารถออกแบบทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยที่ไม่มีการวางแผน เราคงไม่คิดที่จะคว้าทุกโอกาสที่มีและทำอย่างไม่มีแบบแผนขั้นตอน ซึ่งสิ่งที่เราสามารถเพิ่มเติมให้กับผู้เรียนได้อีกคือ การสอนเรื่อง ‘Mindset’ ให้รู้จักวิธีคิดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง”