เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ออกมากระตุ้นการใช้เงินของประชาชน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ การใช้จ่ายของประชาชนเป็นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะกว่าจะควักเงินออกจากระเป๋าได้ก็ต้อง “คิดแล้ว คิดอีก” เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจนั้นไม่สามารถเอาแน่นอนอะไรได้ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้เสมอตลอดเวลา
แต่นโยบายนี้กลับทำให้คนไทยอยากที่จะควักเงินในกระเป๋าออกมาใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว ซื้อสินค้า และใช้บริการต่างๆ กับโครงการ“ชิมช้อปใช้" ของรัฐบาล ที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ 1,000 บาท ไปใช้ท่องเที่ยวที่ใดก็ได้ในประเทศไทย ยกเว้นในจังหวัดตามบัตรประชาชนของเราเอง จำนวน 10 ล้านคน ที่กำลังสร้างความฮือฮามากในเวลานี้ เพราะการลงทะเบียนโครงการ “ชิมช้อปใช้" วันละ 1 ล้านคน แต่เต็มยอดจำนวนที่กำหนดในแต่ละวันไม่กี่ชั่วโมงที่เปิดลงทะเบียน จนมีการเรียกร้องให้ขยายจำนวนผู้ที่ได้รับสิทธิมากขึ้น
ทั้งนี้โครงการ “ชิมช้อปใช้" ของรัฐบาล โดย “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ได้เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ในwww.ชิมช้อปใช้.com และการเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน ทั้ง “เป๋าตัง” ของประชาชน และ “ถุงเงิน” ของผู้ประกอบการร้านค้า โดยการเดินทางท่องเที่ยว พร้อมจับจ่ายใช้สอย จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งการใช้สิทธิต่าง ๆ ไม่ได้ยาก มีขั้นตอนเพียงไม่กี่ขั้นตอน และใช้เวลาเพียงสั้น ๆ แบบที่เรียกว่า “สมัครง่ายๆ... ใช้จ่ายสบายกระเป๋า”
สำหรับหลักเกณฑ์ของมาตรการ “ชิมช้อปใช้”หลังจากลงทะเบียนจะได้รับ SMS แจ้งยืนยันการได้รับสิทธิและช่วงระยะเวลาการไปใช้สิทธิ คือ ภายใน 14 วัน หลังจากได้รับ SMS และให้ดาวโหลด Application เป๋าตัง โดยจะมีวงเงินในเป๋าตัง ช่อง 1 ให้ 1,000 บาท เพื่อใช้สิทธิ ชิมช้อปใช้ ในจังหวัดที่เลือกไว้ และสามารถเติมเงินของตนเองในเป๋าตัง ช่อง 2 เพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการ ร้านค้า ชิมช้อปใช้ ได้ตั้งแต่วันที่ได้รับสิทธิจนถึงสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดตามสำเนาทะเบียนบ้าน โดยการใช้จ่ายจากเป๋าตัง ช่อง 2 รัฐบาลจะสนับสนุนเงินคืนให้ (Cash Back) ร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (หรือวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท) ซึ่งจะจ่ายคืนเงินให้หลังสิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม 2562
ส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการขณะนี้มีแล้วกว่า 135,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายใหม่กว่า 55,000 ร้านค้า และผู้ประกอบการรายเดิมที่มีการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” อีกกว่า 80,000 ร้านค้า ซึ่งมั่นใจว่าจะเพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนแน่นอน
ขณะที่คุณสมบัติผู้มีสิทธิ ชิมช้อปใช้ เพียงมีบัตรประจำตัวประชาชน และเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน จำกัดสิทธิคนลงทะเบียน 10 ล้านคนแรกเท่านั้น (ลงทะเบียนได้ 1 ล้านคน/วัน) ระยะเวลาลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-15 พ.ย. 2562
“ยืนยันว่าจะไม่เพิ่มจำนวนของผู้เข้าร่วมโครงการ “ชิมช้อปใช้” จากที่กำหนดไว้ 10 ล้านคน แม้มีผู้สนใจจำนวนมาก แต่กำลังพิจารณาร้านค้าที่ลงทะเบียนที่มีแล้วกว่า 70,000 ราย ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2562”
“ธนกร วังบุญคงชนะ” เลขานุการรมว.คลัง กล่าวว่า หากดูจากจำนวนการลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน หมายความว่า สามารถไปลงทะเบียนได้อีกไม่กี่วันก็จะครบจำนวน 10 ล้านคน จึงอยากให้ประชาชนวางแผนการท่องเที่ยวให้ดีและทยอยกันลงทะเบียน เพราะเมื่อลงทะเบียนแล้ว ผู้ได้รับสิทธิ์ต้องใช้จ่ายภายใน 14 วัน (27 ก.ย.- 30 พ.ย.2562) หากไม่ใช้จ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนดจะไม่สามารถใช้ได้อีก
ส่วน “สุทธิรัตน์ รัตนโชติ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมแล้ว 74,318 ร้านค้า และอยู่ระหว่างทยอยบันทึกข้อมูลที่เหลือเข้าสู่ระบบให้ครบถ้วน รวมทั้งยังมีร้านค้าติดต่อสอบถามและขอลงทะเบียนเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก กรมบัญชีกลางจึงได้ประสานงานกับธนาคารกรุงไทยขยายระยะเวลาเปิดระบบการรับสมัครถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนร้านค้าเข้าร่วมมาตรการเพิ่มขึ้นอีก รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 80,000 ร้านค้า ซึ่งร้านค้าที่มาลงทะเบียนเป็นร้านค้ารายใหญ่ และรายเล็ก ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ แต่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเลือกเพียงแห่งเดียวไม่ว่าจะมีกี่สาขาก็ตาม
ขณะที่ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ผู้มาลงทะเบียนร่วมโครงการทั้งในส่วนร้านค้าและประชาชนจะไม่ถูกตรวจสอบภาษี เพราะกรมฯ ไม่ได้นำข้อมูลการลงทะเบียนมาใช้ในการตรวจสอบภาษี เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดกรมฯ มีอยู่แล้ว ขอให้ประชาชนอย่ากังวล เพราะประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว
สุดท้าย.....คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าโครงการ “ชิมช้อปใช้” ของรัฐบาล จะกระตุ้นการจ่ายเงินของประชาชนได้อย่างที่ตั้งใจหรือไม่!?!
และจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่อัดฉีดถึง 1 หมื่นล้านบาทหรือไม่!
ไม่นานได้คำตอบแน่นอน!!!