มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน อีกบทบาทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กับการนำนักศึกษาจิตอาสาาลงพื้นที่เพื่อสร้างศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย วิชชาลัยชุมชนแสงตะวัน ต.กระแชง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ผศ.ณัฐ แก้วสกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา อาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เล่าว่า นักศึกษาที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้แก่ นักศึกษาหลักสูตรอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ในรายวิชาความรับผิดชอบของครูช่างต่อสังคม (วิชาเลือกเสรี) และวิศวกรรมงานเชื่อม (วิชาบังคับ) ซึ่งนักศึกษาต้องลงปฏิบัติ โดยบูรณาการร่วมกับชุมชน เพื่อให้นักศึกษาลงปฏิบัติงานจริงและเป็นห้องใช้สำหรับฝึกอาชีพให้ชุมชน โดยมหาวิทยาลัยประหยัดงบประมาณวัสดุฝึก ด้วยมีผู้สนับสนุนวัสดุฝึกครั้งนี้จาก ธนาคารทหารไทย นอกจากนี้ มีนักศึกษาจิตอาสาสมัครมาช่วย รวมทั้งหมดกว่า60คน โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนรุ่นละ20คน ใช้เวลาในการสร้าง1อาทิตย์ ลักษณะเป็นงานเชื่อมโครงสร้างเหล็ก งานประกอบ และงานสถาปัตยกรรม ศูนย์ดังกล่าวใช้สำหรับการเก็บกี่ทอผ้าโบราณ ใช้ในการทำงานของกลุ่มแม่บ้าน และใช้ในการฝึกอบรมของกลุ่มแม่บ้าน ทำให้การเรียนการสอนเป็นสัดส่วนในพื้นที่จำกัด “ช้อป” นายอิสรา คล่ำคง นักศึกษาชั้นปีที่ 4สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า ตั้งแต่เข้ามาเรียนที่นี่ ลงพื้นที่ทำงานลักษณะนี้บ่อย เนื่องด้วยเป็นนักศึกษาชมรมค่ายอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติของมหาวิทยาลัย ค่ายที่จังหวัดเลย ประเทศกัมพูชา นำความรู้ที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ งานเชื่อม ขึ้นโครงอาคารเรียน ครั้งนี้เป็นอีกประสบการณ์ที่ดี ได้สร้างศูนย์ที่ใช้สำหรับการเรียนให้กับกลุ่มแม่บ้าน ตอนทำมันเหนื่อย แต่เมื่อได้เห็นผลงานที่ทำเสร็จ รู้สึกดีและหายเหนื่อย “เต้น” นายสมอริยะ ไชยวงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรม เล่าว่า ในฐานะที่เป็นประธานฝ่ายพัฒนาสังคมบำเพ็ญประโยชน์ สโมสรคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มาช่วยงานและคอยสอนน้อง ๆ ในการใช้อุปกรณ์ ซึ่งถ้ามีเวลาว่างทางฝ่ายพัฒนาสังคมบำเพ็ญประโยชน์ จะลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์ที่คณะเสมอ ทำความสะอาดบริเวณคณะ จิตอาสาครั้งนี้เป็นอีกกิจกรรมที่ได้ช่วยชาวบ้าน คุณป้าคุณยาย มีศูนย์ฝึกอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ “ครีม” นางสาวสุชาดา ไชยจำ นักศึกษาชั้นปีที่2 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ทำกิจกรรมแบบนี้ ได้ทำประโยชน์เพื่อชาวบ้าน หน้าที่คือทาสี ช่วยเพื่อนส่งอุปกรณ์ วันนี้ได้เรียนรู้งานเทคนิคจากอาจารย์ เทคนิคในการเชื่อม ฝึกการทำงานเป็นทีม ถ้ามีกิจกรรมอย่างนี้จะเข้าร่วมโครงอีกแน่นอน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานนักศึกษาได้รู้ถึงกระบวนการในการทำงาน การวางแผนทำงาน การจัดลำดับขั้นตอนในการทำงานได้จริง และการทำงานเป็นทีม “ถ้าเป็นวิชาที่ฝึกปฏิบัติในมหาวิทยาลัย โอกาสในการทำงาน ลงมือทำที่เป็นรูปธรรม และได้ทำเพื่อชุมชน ซึ่งโอกาสแบบนี้ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ลงมือปฏิบัติส่งงานอาจารย์แล้วได้คะแนน ผศ.ณัฐกล่าวทิ้งท้าย ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี