สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ร่วมกับสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดกิจกรรมขึ้นอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นการมอบหลอดพลาสติกชีวภาพเพื่อให้เกิดการทดลองใช้งานจริง โดยผลิตและแปรรูปมาจากพืชอ้อย เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ นายศิวะ โพธิตาปนะ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ จาก สอน. กล่าวว่า จากการส่งเสริมของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยส่งเสริมให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรม โดย สอน. ได้ร่วมมือกับสถาบันพลาสติก พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากพืชเศรษฐกิจของไทยอย่าง “อ้อย” ให้สามารถแปรรูปเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ หลอดพลาสติกชีวภาพซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยต้องการมุ่งเน้นให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการตระหนักในการช่วยกันดูแลธรรมชาติผ่านการใช้ หลอดพลาสติกชีวภาพ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำในอีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จากเดิมที่อ้อยสามารถผลิตได้เพียงน้ำตาลเท่านั้น ให้สามารถพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ โดยครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมมอบหลอดพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนใช้กันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบันคนไทยตระหนักถึงปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการใช้ในแต่ละปีที่ผ่านมาได้สร้างขยะให้เกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง หลอดพลาสติก หรือแก้วน้ำพลาสติกที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ด้าน ดร.ฉัตรชัย มีโภคา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกลยุทธ์อุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภายใต้การผลักดันของภาครัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมของไทยมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลก และยังเป็นการยกระดับศักยภาพของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย รวมถึงปัจจุบันทิศทางของผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีเขียวที่เริ่มเป็นกติกาสากลของโลก ส่งผลให้ในหลาย ๆ ประเทศต่างกำหนดมาตรการต่าง ๆ ออกมา เพื่อลดปัญหาเรือนกระจกและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น และจากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน ทำให้เกิดนวัตกรรมต่อยอดจาก พืชเกษตรหลักอย่างอ้อย ที่ถูกนำมาแปรรูปให้กลายเป็น วัตถุดิบสำหรับการผลิต พลาสติกชีวภาพ ( Bioplastic ) ในหลายรูปแบบ โดยทางเราได้ทำการมอบหลอดพลาสติกชีวภาพ ที่ถูกพัฒนาให้เกิดการใช้งานได้จริง เป็นหลอดที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เพื่อต้องการสร้างความตระหนักในวงที่กว้างมากขึ้น โดยเลือกเอาใจกลางกรุงเทพอย่างหอศิลป์กรุงเทพ ฯ เป็นจุดเริ่มต้นในการนำ หลอดชีวภาพมามอบให้กับทางร้าน Gallery Drip Coffee ไว้ใช้งานจริง ซึ่งมีทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศมาอุดหนุนกันอย่างคับคั่ง รวมถึงได้ทดลองใช้งานจริง เพื่อให้เกิดการรับรู้ว่า ประเทศไทยเราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไปได้อีกขั้นแล้ว เราเชื่อว่า นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารไปยังภาคเอกชนอื่น ๆ ให้มองเห็นถึงความร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติกของไทย ก้าวไปอีกระดับทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปยังปลายน้ำของพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศไทยอย่างแท้จริงในอนาคตอันใกล้