พืชประจำถิ่นที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ได้รับพระราชทานนามจากกรมสมเด็จพระเทพฯ เข้าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามพระราชดำริ ผศ.ดร.ไซนีย๊ะ สะมาลา และดร.กิตติมา คงทน อาจารย์สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) พร้อมว่าที่ร.ต.สุทธิรักษ์ หนองแก้ว ร่วมกับนักวิจัยลงพื้นที่สำรวจต้นเทียนสิรินธร พืชประจำถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อหาช่วงที่มีจำนวนดอกมากที่สุดสำหรับกำหนดเป็นช่วงฤดูเที่ยวชม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวในจ.สุราษฎร์ธานี ณ อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ผศ.ดร.ไซนีย๊ะ กล่าวว่า เทียนสิรินธร (Impatients Sirindhorniae Triboun & Suksathan) หรือชมพูสิริน ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับรายงานว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกโดย ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน นักวิจัยพฤษศาสตร์ เมื่อปี 2552 เทียนสิรินธรเป็นพืชถิ่นเดียวที่พบได้เฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานีและ จ.กระบี่ โดยใน จ.สุราษฎร์ธานีพบได้เฉพาะภูเขาหินปูนบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ อุทยานแห่งชาติเขาสก สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ร่วมกัน 3 หน่วยงานคือ ได้รับทุนวิจัยจากเขื่อนรัชชประภาโดย ดร.ครรชิต งามแสนโรจน์ ผู้ช่วยผอ.เขื่อนสิริกิติ์ (ผู้ช่วยผอ.เขื่อนรัชชประภา ในตอนที่เริ่มโครงการวิจัย) นายวิโรจน์ โรจนจินดา หน.อุทยานแห่งชาติเขาสก นางเยาวลักษณ์ สุวรรณคง ผู้ช่วยหน.อุทยานแห่งชาติเขาสก ร่วมมือออกสำรวจ และทีมนักวิจัยมรส. โดยเป็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่จะขยายพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชและนำพืชที่ขยายพันธุ์ได้คืนสู่ท้องถิ่นต่อไป ทั้งจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้วางแผนจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนอีกด้วย