5 หน่วยงานเปิดโครงการ Children in Street ค้นหาเด็กเร่ร่อนใช้ชีวิตตามท้องถนนใน กทม.ที่มีจำนวนกว่า3หมื่นคน โดยใช้ความร่วมมือจาก ครูกสศ.ครูกทม.และครูอาสา ร่วมมือค้นหาเด็กบนท้องถนน เพื่อคืนโอกาสทางการศึกษาหรือพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ให้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ที่ห้องจูปีเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น 4 กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อน สมาคมสถาบันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดตัวโครงการ Children in Street เพื่อค้นหาและวางมาตรการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนบนท้องถนนในพื้นที่ กทม. ให้สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) กล่าวว่า โครงการเด็กบนท้องถนน หรือ Children in Street เป็นโครงการสำรวจเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ใช้ชีวิตตามท้องถนนในพื้นที่ กทม. โดยมอบหมายให้ครูจาก กศน. ในแขวงต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 180 แขวง ลงพื้นที่สแกนหาเด็กกลุ่มนี้อย่างเต็มพื้นที่ ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้กลไกของ กสศ. มาบูรณาการ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษาต่างๆ ของกระทรวงศึกษาในทุกระดับการศึกษา เมื่อทราบตัวเลขและตัวตนเด็กกลุ่มนี้ที่ชัดเจน จะได้เร่งหามาตรการช่วยเหลือให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือพัฒนาให้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและศักยภาพที่แตกต่างกัน สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ โดยไม่หลุดออกนอกระบบการศึกษา ปัจจุบันคาดว่าประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นไม่ได้รับการศึกษาอยู่นับหลายแสนราย โดยมีเด็กบนท้องถนนประมาณ 30,000 คน กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกทม. เป็นเมืองที่มีเด็กข้างถนนกระจุกตัวอยู่มากที่สุด พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ.ได้แสวงหาความร่วมมือและพัฒนาข้อมูล/ความรู้เพื่อดูแลเด็กบนท้องถนน เพื่อสนับสนุน ศธ. กทม. และองค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและส่งต่อความช่วยเหลือ ก่อนขยายผลสู่ความยั่งยืน ที่ผ่านมา กสศ.ได้ริเริ่มโครงการเสริมความพร้อมส่งน้องไปโรงเรียน เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่พักอาศัยบริเวณริมทางรถไฟยมราชและใช้ชีวิตบนถนน เช่น ขายมาลัยตามสี่แยก หรือ ขอทานบนถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 81 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการกลับไปสู่โรงเรียนของเด็กกลุ่มนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเด็กบนท้องถนนในพื้นที่ กทม.ที่มีแนวโน้มจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งแนวทางดังกล่าวถูกนำมาพัฒนาเป็นโครงการ Children in Street ในพื้นที่ กทม. โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือและกลไกปกป้องคุ้มครองกลุ่มเด็กและเยาวชนบนท้องถนน เพื่อยกระดับให้มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง และสนับสนุนให้เด็กกลุ่มนี้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง "จะทำการสำรวจค้นหาเด็กและเยาวชนที่ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน โดยใช้เครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อน ครู กศน. และครูอาสา ซึ่งจะร่วมกันทำการสำรวจ พื้นที่จุดเสี่ยงใน กทม. เพื่อให้ทราบความต้องการและข้อจำกัดของครอบครัว ที่เป็นต้นเหตุของการออกมาใช้ชีวิตหรือทำงานบนท้องถนน ซึ่งจะนำไปสู่การให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความถนัดและศักยภาพเป็นรายบุคคล เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและครอบครัวในอนาคต รวมทั้งเสริมศักยภาพเด็กและครอบครัวให้มีกิจกรรมเสริมรายได้หรืออาชีพทางเลือกที่เหมาะสมตามวัย ไม่มีความเสี่ยง ช่วยลดอุปสรรคในการไปโรงเรียนจากความยากจน และสามารถสร้างรายได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้” นายพัฒนะพงษ์ กล่าว นายกุลธร เลิศสุริยะกุล ประธานเครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อนและผู้รับผิดชอบโครงการ Children in Street ในพื้นที่ กทม. กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความต้องการที่จะทราบจำนวนของเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ใช้ชีวิตตามท้องถนน ในพื้นที่ กทม. ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ นำตัวเลขและรูปแบบปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่มาออกแบบวิธีการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ ครูกศน. ในกทม. ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 700 คนเป็นผู้สำรวจ และบันทึกข้อมูลโดยใช้ Google Form หรือแบบสอบถามออนไลน์ที่ใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว โดยจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน ในการสำรวจพร้อมทั้งสรุปและประเมินสถานการณ์ เพื่อให้ทราบว่าพื้นที่ไหนบ้างที่เด็กๆ ไปรวมกลุ่มกัน หรือจุดไหนที่เด็กไปใช้ชีวิตบนท้องถนน ก่อนนำมาสรุปพูดคุยกันในเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ ซึ่งดูแลเด็กกลุ่มนี้ วางแผนการดูแล หากพื้นที่ไหน ไม่มีใคร หรือไม่มีกำลังดูแล ก็จะวางแผนให้ ครูกศน.ที่มีจิตอาสาใน กทม.เข้าไปประสานดูแล พร้อมทั้งวางแผนศึกษาข้อมูลเชิงลึกกับเด็กกลุ่มนี้ หารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมให้พวกเขากลับเข้าสู่โอกาสทางการศึกษาต่อไป