ปัญหาใหญ่บนโลกออนไลน์เต็มไปด้วย Fake News เตือนผู้บริโภคเสพสื่ออย่างมีสติ รู้เท่าทัน โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอต สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลพาราควอต พร้อมเผยข้อเท็จจริงยังไม่มีสารชนิดใดที่มีคุณสมบัติทดแทนพาราควอตได้ ศาสตราจารย์ รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืชและวิทยาศาสตร์เกษตร ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า กรณีที่มีข้อมูลว่ามีสารทดแทนพาราควอตได้ โดยเฉพาะผู้ให้ข้อมูลคือผู้ผลิต ผู้ขายที่เชื่อตามผู้ไม่มีความรู้ด้านเกษตร โดยประสบการณ์แล้วหากมีสารที่สามารถทดแทนพาราควอตได้ทุกมิติ เกษตรกรคงเลิกใช้สารพาราควอตไปนานแล้ว จึงอยากให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นหากมีการแนะนำให้ใช้สารอื่น หรือวิธีอื่น แล้วส่งผลเสียหายต่อผลผลิตจะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในยุคที่ราคาผลผลิตตกต่ำ พืชผลเสียหายจากภัยแล้ง และน้ำท่วม ตนยังย้ำว่าปัจจุบัน ยังไม่มีสารชนิดใดที่มีคุณสมบัติทดแทนพาราควอตได้ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรทั่วโลกทราบดีว่า พาราควอต เป็นสารที่ไม่ดูดซึม ใช้ฉีดหญ้าหลังจากหญ้างอกขึ้นมาแล้ว ทำลายเฉพาะส่วนสีเขียวของพืชที่อยู่เหนือดิน ไม่ดูดซึม ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วในการกำจัดหญ้า ระยะปลอดฝนสั้น หมายถึงหากมีฝนตกหลังฉีดพ่นภายในครึ่งชั่วโมงก็ยังมีประสิทธิภาพดี เกษตรกรใช้สารกำจัดวัชพืชแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 1.ใช้กำจัดวัชพืชก่อนวัชพืชงอก 2.ใช้กำจัดวัชพืชเมื่อวัชพืชงอกแล้ว สารกำจัดวัชพืชต่างชนิดกันก็มีคุณสมบัติต่างกันไป สำหรับ พาราควอต มีความปลอดภัยต่อพืชประธาน เนื่องจากไม่ดูดซึม ต่างจากสารชนิดอื่นที่เป็นอันตรายต่อพืชประธาน การสนับสนุนให้ใช้เครื่องกลเพื่อร่วมบริหารจัดการวัชพืชเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นการใช้เครื่องจักรจะทำลายพืชประธานที่ต้องการปลูกได้ ไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่เปียกชื้น มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมันและแรงงานคน ในไร่มันสำปะหลังหากใช้เครื่องจักรจะไปกระทบกับหัวมันสำปะหลังใต้ดิน รวมทั้งการแนะนำให้เกษตรกรปลูกถั่วเป็นพืชคลุมดินระหว่างแถวอ้อย ก็ต้องคิดด้วยว่า เกษตรกรจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ถั่ว ค่าปลูก ค่าไถกลบเท่าไหร่ โดยงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรได้มีคำแนะนำให้เกษตรกรใช้สารกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับสภาพการปลูก และพืชปลูกในการจัดการวัชพืชแบบผสมผสานเป็นทางเลือก ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้สารชนิดใด หรือเครื่องมือใดมาทดแทนสารพาราควอต โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะใช้หรือไม่ใช้สารชนิดใด ดูเรื่องประสิทธิภาพ และราคา เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของเกษตรกร ประเด็นปัญหาความเสี่ยงสุขภาพ สิ่งแวดล้อมก็มีมาตรการจำกัดการใช้ที่ภาครัฐกำหนด มีการกำหนดพืช พื้นที่ให้การอบรมเกษตรกรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน “การจะแนะนำให้เกษตรกรใช้อะไรจำเป็นต้องมีการศึกษาพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคเกษตรกรรมและการส่งออกของไทย ขอให้นึกถึงเกษตรกรเป็นลำดับแรก โดยให้ความสำคัญต่อประเด็นสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่ากัน เน้นย้ำว่าการใช้สารอย่างถูกต้องตามคำแนะนำบนฉลากจะทำให้เกิดความปลอดภัย การให้ความรู้แก่เกษตรกรจึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการเกษตรทุกด้าน”