นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี พ.ศ.2562 “Shift to the future : ภาครัฐปรับ อนาคตเปลี่ยน” จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดี จากผลงาน"ระบบถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อวัณโรคทั่วจีโนมประเทศไทย" ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถสร้างแนวทางใหม่ในการสอบสวนการระบาดของวัณโรค โดยใช้หลักการระบาดวิทยาเชิงโมเลกุล เปรียบเทียบความแตกต่างของเชื้อวัณโรคในผู้ป่วยแต่ละรายจากข้อมูลพันธุกรรม ทำให้ทราบสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคที่แพร่ระบาดในพื้นที่ และสร้างระบบตรวจจับการระบาดของเชื้อวัณโรคดื้อยาที่อาจระบาดในโรงเรียน โรงพยาบาล หรือแหล่งชุมชน นอกจากนี้ ระบบถอดรหัสพันธุกรรมฯ สามารถตรวจการกลายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาครอบคลุมตัวยาทุกชนิดที่ใช้รักษาวัณโรค ในขณะที่วิธีตรวจทางโมเลกุลที่ห้องปฏิบัติการวัณโรคภายในประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น สามารถตรวจการดื้อยาได้เพียงบางชนิดตัวยา เมื่อทราบลักษณะการดื้อยาของเชื้อวัณโรคครบถ้วนจะทำให้แพทย์เลือกสูตรยาที่ต้านวัณโรคได้มีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วย และลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคดื้อยาได้อีกด้วย ทั้งนี้ วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ในคนทั่วไปที่ติดเชื้อวัณโรคจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคร้อยละ 5–10 ตลอดช่วงชีวิต ขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย จะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคสูงถึงร้อยละ 10 ต่อปี ประเทศไทยสูญเสีย 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปีสำหรับวัณโรค เนื่องจากวัณโรคยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 10 อันดับแรกของคนไทย อัตราเสียชีวิตจากวัณโรคที่ไม่ดื้อยาอยู่ที่ร้อยละ 8 และเพิ่มเป็นร้อยละ 13 ในผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา วัณโรคจึงเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงจัดตั้งระบบการถอดรหัสพันธุกรรมทั่วจีโนมของเชื้อวัณโรคขึ้นมา เพื่อป้องกันประชาชนทั่วไปได้รับเชื้อวัณโรคจากการแพร่ระบาดของวัณโรค และเพื่อให้ผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว