ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลายประเทศเลิกใช้แล้ว ระบุข้อมูลม.มหิดลพบตกค้างในทารกไทยแรกเกิด และปนเปื้อนในน้ำนมแม่ ให้ระวัง 10 ผักสารเคมีตกค้างสูงสุด ขณะในช่วงกินเจแนะกินผักตามฤดูกาลเสี่ยงยาฆ่าแมลงน้อยกว่า ทั้งให้ล้างผักก่อนกิน-ปรุงอาหาร พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) มีแนวทางชัดเจนในการยกเลิกใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิดอันตราย ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่ใช้ด้านเกษตรกรรมป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เกษตรกร และสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทั้ง 3 ชนิดนี้ในหลาย ๆ ประเทศ ได้ยกเลิกใช้อย่างถาวร สำหรับไทยจากข้อมูลมหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในสะดือทารกแรกเกิดและซีรั่มของแม่มากถึงร้อยละ 20 พบในขี้เทาเด็กทารกแรกเกิดสูงถึงร้อยละ 54.7 ส่วนคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต พบในซีรั่มของแม่และสะดือทารกเด็กแรกเกิดสูงถึงร้อยละ 50.7 และพบการปนเปื้อนในน้ำนมแม่ร้อยละ 41.3 นอกจากนี้ ยังพบการตกค้างของพาราควอตในพืชผักอีกด้วย ดังนั้น เพื่อลดการสะสมของสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ให้มีมากเกินไปในร่างกาย ขอความร่วมมือเกษตรกรงดใช้สารเคมีดังกล่าวทางเกษตรกรรม เนื่องจากทุกวันนี้การเพาะปลูกของไทยในหลายพื้นที่ยังคงมีการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชและยังมีการตรวจพบการตกค้างของสารเคมีอยู่ในพืชผักอยู่เสมอ โดยเฉพาะผักสด 10ชนิด ที่จำหน่ายในท้องตลาด ที่พบว่ามีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่สูง ได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว พริก แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักบุ้งจีน มะเขือ และผักชี พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ก่อนกินหรือนำผักมาปรุง ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ให้ล้างผ่านน้ำก๊อกที่ไหลนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมเกลืออัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูอัตราส่วนครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียม ไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10-15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่า 2 ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลายๆ ครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างโดยเปิดน้ำไหลผ่านอย่างน้อย 2 นาที เพื่อความปลอดภัยและลดการปนเปื้อนของสารเคมี “โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจนี้ พ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายอาหารเจที่ปรุงประกอบจากผักเป็นจำนวนมาก จึงต้องเฝ้าระวังความสะอาดปลอดภัยของสารเคมีในผักให้มากขึ้น สำหรับผู้บริโภคที่ปรุงอาหารเจ กินเองในครอบครัว ในช่วงนี้ไม่ควรกินผักนอกฤดูกาลเนื่องจากมีแนวโน้มใช้สารเคมีมากกว่าผักตามฤดูกาล ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างและเป็นอันตรายมาก เมื่อได้รับสารนี้ในปริมาณมากจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง อาจเกิดหัวใจวายและเสียชีวิตได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ สะสมในร่างกายจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในระยะยาว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว