คอการเมืองและนักวิเคราะห์วิจารณ์ การเมือง ต่างจับตาที่จะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งตอนแรกหลายฝ่ายคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563...แต่ล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายกฎหมาย) ที่เป็นแกนนำหลักของรัฐบาล ได้ออกมาพูดถึงเรื่องการเมืองท้องถิ่น โดยบอกว่่า เรื่องนี้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลต้องมาคุยกันก่อนว่าจะเอาอย่างไร จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องใด มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน มีสิ่งไหนต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือ ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น(อปท.) ในปัจจุบัน เค้ายังคงทำงานกันได้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าว ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร กับสื่อมวลชน ถึง ความชัดเจนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเป็นเมื่อใดและไม่ทราบว่ากำลังรออะไรคงต้องถามทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น(สถ.)ที่เป็นแม่บ้านจะดูความพร้อมต่างๆรวมถึงการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายแต่ในส่วนของกรุงเทพ(กทม.)ยังไม่เห็นว่าจะปรับปรุงกฎหมายอะไร ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรกับเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใดก็สามารถเสนอรัฐบาลได้เลยใช่หรือไม่ ในข้อนี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ตอบว่า ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะเอาตามนั้น เราต้องปรึกษาหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อน เพราะเรื่องนี้ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาความพร้อมในทุกปัจจัยโดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระบุว่า มีความพร้อมหรือยัง แต่ต้องพิจารณาผลกระทบด้านอื่นๆประกอบด้วย ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง ในระดับใด หากเป็นในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ดูแล้วจะมีปัญหา เพราะมีการคิดปรับปรุงในโครงสร้างอยู่ ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า ก่อนหน้านี้มีการระบุว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นหลังเลือกตั้งใหญ่ใน 4 เดือน แต่ก็เลยมาแล้วจะกระทบการทำงานหรือไม่ นายวิษณุ เครืองาม ตอบว่า ไม่ทราบ แต่ปัจจุบัน ผู้บริหารท้องถิ่นสมาชิกสภาท้องถิ่น เขาก็ยังทำงานได้ รายงานข่าวแจ้งว่า ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวและคำตอบของ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ทำให้มองดูว่าในการจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่ทุกฝ่ายคาดหวังในเบื้องต้นว่า จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งสนามใหญ่ (สส.)ภายใน 4 เดือน หรืออย่างช้าสุดภายในต้นปี 2563 นั้น จนถึงเวลานี้ ยังคงไร้วี่แววที่ชัดเจน... เพราะต้อง ดูจากปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ความพร้อม กฏหมายบางอย่างที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง งบประมาณในการจัดการเรื่องตั้ง รวมถึง การหารือของพรรคร่วมรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าเห็นสมควร หรือควรที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงเวลาใด ที่เหมาะสม.... คำตอบสุดท้าย จึงต้องอยู่ที่ พรรคร่วมรัฐบาล และ ครม. ว่าสุดท้ายจะเอาอย่างไร .... แต่ตอนนี้ ต้องให้รัฐบาลทำงานไปก่อน หรือ รอ ให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่กำลังจะนำเข้าสภาฯ และเมื่อผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และมีงบประมาณพร้อมจัดการเลือกตั้ง ประกอบกับความพร้อมของรัฐบาลด้วย นอกเหนือจาก ความพร้อมของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) และกระทรวงมหาดไทย มาถึงตรงนี้จุดนี้คงบอกได้เพียงว่า ยังไม่มีแนวโน้ม และไร้วี่แววการเลือกตั้งท้องถิ่นในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน