“เฉลิมชัย" น้อมรับกระแสรับสั่งในหลวง ช่วยผู้ประสบอุทกภัยผ่านพ้นวิกฤติเร็วที่สุด สั่งเพิ่มติดตั้งเครื่องสูบน้ำอ้อมแก่งสะพือ ดึงน้ำลงโขงทันที ยัน จ.อุบลฯน้ำลด 29 ก.ย.นี้ ทุกพื้นที่แนวลำน้ำชี-มูล เตรียมรับมือร่องฝนลงใต้ สัปดาห์หน้า ติดตามพายุลูกใหม่ 24 ชม. เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประชุมคอนเฟอร์เรนกับทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ 21 จังหวัด ที่ประสบอุทกภัย ได้แก่จ.อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร ศรีสะเกษ สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม อำนาจเจริญ อุดรธานี พิจิตร แพร่ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย พิษณุโลก เชียงใหม่ พร้อมให้นโยบายโครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรฯกว่า 7.7 พันคน ปล่อยคาราวานช่วยเหลือประชาชน พร้อมกัน 21 จังหวัด รวมทั้งมีปล่อยฝูงโดรน 9 ลำ หรืออากาศยานไร้คนขับ สำรวจ วางพิกัดชี้เป้าพื้นที่เสียหายเข้าฟื้นฟู เพื่อดูแลแก้ปัญหาจนกว่าสถานการณ์อุทกภัยผ่านพ้นไป โดยเบี้ยงต้นพื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 3.3 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบกว่า 6 แสนราย นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขอให้พวกเราร่วมมือกันร่วมใจกันดูแลพี่น้องประชาชน ให้สามารถฝ่าฝันอุปสรรคปัญหาต่างๆซึ่งกำลังได้รับความทุกข์ยาก และเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชนสู้ในวันนี้ และพร้อมรับสถานการณ์วันข้างหน้า ดูแลเติมเต็มกันจะแก้ทุกวิกฤติได้โดยเร็ว ซึ่งรัฐบาลจะยืนอยู่เคียงข้างประชาชนตลอดเวลา วันนี้คิกออฟ 21 จังหวัด ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ออกปฏิบัติการพร้อมกันทั้งหมด สิ่งสำคัญ เร่งด่วนผลักดันระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังให้ไวที่สุด ขณะนี้เครื่องมือทุกอย่างของชลประทานนำมาลงพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อจะได้ไปเข้าไปดูแลสำรวจความเสีนหายได้เร็วหากน้ำลดลงไว ซึ่งต้องเข้ารับฟังความต้องการพี่น้องเกษตรกรลำดับต่อไป ตนสั่งทุกพื้นที่ส่งเกษตรอำเภอ ตำบล สำรวจรายงานเข้าส่วนกลาง ขออนุมัติเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงคลัง ตนย้ำว่าขั้นตอนการสำรวจต้องทำอย่างโปร่งใส ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย ถ้ามีจะจัดการเด็ดขาด ในส่วนการเยียวยา กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์ข้าว ระดมสต็อกพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศ แจกจ่ายเกษตรกร พร้อมกับจะดูสำรวจความต้องการพี่น้องประชาชนเพิ่มเติม เพื่อเสนอครม.ยืนยันว่านายกรัฐมนตรี จะพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งรัฐบาลให้ดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัย ปรับแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทันเหตุการณ์ในพื้นที่แก้ความเดือดร้อนได้เร็วขึ้น น้อมรับตรงนี้มาดำเนินการอันดับแรกแก้ปัญหาเร่งด่วนระดมเครื่องมือต่างๆทั้งหมด เร่งผลักดันน้ำออกจากพื้นที่อุทกภัย ทั้งนี้เมื่อวานได้มีโอกาสได้บินสำรวจแม่น้ำมูลในส่วนลงแม่น้ำโขง พบว่าบางส่วนมีอุปสรรคทางน้ำตรงบริเวณแก่งสะพือ ลักษณะเป็นแก่งหินขึ้นมา ต้านทานกระแสน้ำขวางทางน้ำในช่วงปลายแม่น้ำมูลทำให้ไหลช้าลง ได้สั่งการอธิบดีกรมชลประทาน ผู้ว่าราชการจ.อุบลฯ หาทางตัดน้ำต้นแก่ง เพิ่มติดตั้งเครื่องสูบน้ำ15เครื่องและวางท่อสูบน้ำระยะทาง2กม.อ้อมแก่งผันน้ำทำให้ระบายเร็วขึ้น พร้อมปฏิบัติการตรงไหนเร่งด่วนทำทันที ต่อจากนั้นจะเร่งมาตรการเยียวยาประชาชน เกษตรกร ท่านนายกฯกำชับ ตรงไหนแก้ความเดือดร้อนได้ก่อนให้ดำเนินการทันที”นายเฉลิมชัย กล่าว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ได้สั่งให้กรมชลฯ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าดึงน้ำแม่ร้ำมูล ออกอ้อมแก่งสะพือให้ได้ลงโขงเร็ว ซึ่งตามคาดการณ์วันที่ 29 ก.ย.นี้ สถานการณ์น้ำกลับสู่ตลิ่งทั้งหมดถ้าไม่มีฝนตกมาเพิ่ม ในส่วนระยะยาวจะเดินหน้าทำโครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลฯ ตั้งคณะกรรมการศึกษา ทั้งด้านบนและล่าง แม่น้ำมูลให้แล้วเสร็จปี 63 จะเสนอของบดำเนินการทันที “หลังจากนี้ไม่มีฝนมาเติม มั่นใจวันที่ 29 ก.ย.น้ำท่วมจ.อุบลฯคลี่คลาย แต่ถ้ามีฝนให้เฝ้าทุกจุดระวังทุกจุด สั่งการว่าในส่วนความเดือดร้อนประชาชนต้องแก้อันดับแรก ซึ่งพายุลูกใหม่ ต้องดูใกล้ชิด พายุมีทิศทางลมเป็นอย่างไร เพราะพายุโพดุล ไม่คาดคิดกระแสลมเปลี่ยนเร็วมาเข้าไทย โดยวันนี้ไม่ต้องห่วง เฝ้าระวัง24ชม.ทุกกระทรวง บูรณาการ่วมกัน นายกฯสั่งการดูแลประชาชน หลังจากนี้ในเดือนตุลาคม ฤดูฝนของภาคใต้ให้ลง ไปตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่จ.เพชรบุรี ลงไป รับมือสถานการณ์เตรียมความพร้อมล้วงหน้าในการรับมือน้ำท่วม โดยใช้โมเดลอุบลราชธานี ตั้งธงล่วงหน้า ทั้งนี้ลักษณะของภาคใต้ เป็นพื้นที่ติดทะเล ไม่เกิดท่วมขังเป็นเดือน แต่น้ำมาเร็วรับน้ำจากเทือกเขา ต้องเปิดทางให้น้ำลงทะเลได้เร็วจะลดความเสียหายได้ ในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป แนวร่องฝนจะเข้าภาคใต้”รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว