"ปิยบุตร" ชี้รัฐประหารบ่อย- รัฐธรรมนูญอายุสั้น เพราะยังไม่ชัดว่า "อำนาจสูงสุดเป็นของใคร" ลั่น ต้องหาฉันทามติร่วมกัน - ปลุกทวงคืน "อำนาจสถาปนา" วันที่ 22 กันยายน ที่ห้องประชุมบุษราคัม โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า จ.ฉะเชิงเทรา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกิจกรรม "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน" โดยกล่าวในหัวข้อ "การทวงคืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญกลับมาไว้กับประชาชน" ตอนหนึ่งว่า ในการอยู่ร่วมกันย่อมมีความสัมพันธ์ และย่อมเกิดสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ใช้อำนาจ ผ่านการสั่งให้ทำ ขอร้องไม่ให้ทำ ดำเนินมาทุกยุคสมัย ในทุกสังคม และทุกระดับตั้งแต่ ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน และขยายออกไปสู่ระดับประเทศ ทั้งนี้ มีอำนาจรูปแบบหนึ่ง คือ อำนาจในทางการเมืองที่ใช้แตกต่างออกไป เพราะเป็นการตัดสินใจสั่งการในเรื่องสาธารณะ กระทบคนส่วนใหญ่ อำนาจในทางการเมืองนั้นมีมาแต่ยุคบุพการเช่นกัน การรวมตัวกันเป็นสังคม ชุมชน ต้องมีการตกลงจัดสรรทรัพยากร อาหารที่หาได้ ภายใต้กติกา โดยผู้ปกครองในอดีตอาจมาจากรบหรือหาอาหารเก่ง แต่อย่างไรก็ตามเขาคือมนุษย์ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย และวันหนึ่งเมื่อจากโลกนี้ไป ความสับสนอลหม่านมักเกิดขึ้นว่า ใครจะเป็นผู้ปกครองคนต่อไป ดังนั้น มนุษย์จึงคิดค้นนวัตกรรมหนึ่งขึ้นมา เอาอำนาจทางการเมืองที่เป็นอยู่จริงในชีวิตให้เป็นสถาบัน แยกจากตัวบุคคล ให้ชื่อสถาบันนั้นว่ารัฐ และเอาคนไปใช้อำนาจรัฐ ให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งเมื่อคน ๆ นั้น ตาย คนๆ นั้น เกษียณ แต่รัฐยังคงอยู่ ด้วยลักษณะนี้ทำให้อำนาจทางการเมืองอยู่ต่อเนื่องมาตลอดสาย นายปิยบุตร กล่าวว่า เมื่อมีตำแหน่งต่างๆ เกิดขึ้น รัฐจะมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน จะมีกี่องค์กร จะปกครองระบบอะไร จะประกันสิทธิประชากรในรัฐอย่างไร เรื่องต่างๆ นี้จะจึงถูกเขียนไว้ในเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งให้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และอำนาจที่ทำให้กำเนิด คลอด รัฐธรรมนูญขึ้นมา คือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ กำหนดระบบการเมืองการปกครองเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญ เพราะแต่เดิมศาสนจักรครอบงำรัฐอยู่อำนาจสถาปนาก็เป็นขอพระเจ้า ในยุคสมบูรณายาสิทธิราชย์อำนาจสถาปนาก็จะเป็นของพระมหากษัตริย์ ในยุคยึดอำนาจเผด็จการก็เป็นของหัวหน้าเผด็จการ แต่แต่ยุคของประชาธิปไตย ชัดเจนแล้วว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนคนทั่วไป ประชาชนเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญขึ้นมา นายปิยบุตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย เราเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจากฉบับหนึ่งเป็นอีกฉบับด้วยวิธีอนารยชน คือ ใช้กำลังทหารยึดอำนาจแทบทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ประเทศใดที่มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ มีรัฐประหารหลายครั้งหลายหน นั่นหมายถึงสภาพปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในประเทศนั้นซึ่งไม่ได้ถูกแก้ไข ซึ่งนั่นก็คือ 'ตกลงแล้วอำนาจสูงสุดเป็นของใครกันแน่?' นี่คือสิ่งที่ตกทอดมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงแสดงอาการออกมาด้วยการรัฐประหารบ่อยครั้ง ด้วยรัฐธรรมนูญที่มีอายุสั้น ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยๆ นั่นเพราะยังตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร ทั้งนี้ การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นหมุดหมายการเมืองไทยสมัยนี้ เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลัง ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของตัวเอง ไม่ได้ออกมาโดยเป็นฉันทามติจากประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งการแก้แค้น เอาคืน และกำจัดศัตรูทางการเมืองตนเองแบบนี้ จึงไม่มีศักยภาพสร้างความปรองดองของคนในชาติได้ "สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาความชอบธรรมในทุกมิติ ตั้งแต่ที่มา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเชื่อมโยงกับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีปัญหาเรื่องกระบวนการร่าง ซึ่งชงกันเองกินกันเอง วนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมของนักร่างรัฐธรรมนูญหน้าเดิมๆ ไม่กี่คน และแม้ฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะบอกว่าผ่านการออกเสียงประชามติ แต่ก็เป็นการออกเสียงที่ไม่ผ่านมาตฐาน ฝ่ายไม่เห็นด้วยไม่อาจแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ หลายคนถูกดำเนินคดี หลายคนยังมีคดีติดตัว และยังไม่นับคำถามพ่วงที่หลายคนอ่านแล้วไม่เข้าใจ คิดว่ารับรัฐธรรมนูญแล้วจะได้เลือกตั้งโดยเร็วแต่สุดท้ายไม่ใช่ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีปัญหาเรื่องเนื้อหา ที่ทำให้ระบอบรัฐประหารถูกต้องตลอดกาล เอารัฐประหารไปฝังไว้ในรัฐธรรมนูญ และยังดึงบ้านเมืองถอยหลังกลับไปสู่ระบอบการปกครองคล้ายปี 2521 นั่นคือเลือกตั้งอย่างไรก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องปะหน้าทาปาก ซึ่งการปกครองในปี 2521 นั้น อาจเรียกกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่สำหรับครั้งนี้อาจไม่ใช่ จะออกไปในทางเผด็จการครึ่งใบมากกว่า" นายปิยบุตร กล่าว นายปิยบุตร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 คือ รัฐธรรมนูญที่เขาลากเรามาขังไว้ในห้องมืด ออกแบบระบบป้องกันอย่างแน่นหนา กำหนดวิธีการแก้ที่แทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การจะออกจากห้องปิดตายนี้ได้ เห็นว่าต้องกลับมาในหลักการ คือ 1.ยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน 2.ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิ์ ก่อตั้ง แก้ไข หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญได้เสมอ และ 3.รัฐธรรมนูญจะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจสถาปนาในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร.) ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงไม่ว่าจะเป็นการผ่านประชามติ นี่คือการยืนยันอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลังนั้นไม่ใช่ เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญถูกคณะรัฐประหารขโมยไปใช้กันเอง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เราต้องทวงคืนกลับมา โดยการเริ่มต้นรณรงค์อย่างแข่งขัน หาฉันทามติร่วมกัน ให้ทุกคนได้แสดงออกว่านี่คือประชาชน คือเจ้าของอำนาจตัวจริง เมื่อนั้นจะเกิดกระแสกดดันที่ สว. ซึ่งเขาเป็นเพียงองค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น ไม่ใช่เจ้าของ เพราะเจ้าของตัวจริง คนเขียนรัฐธรรมนูญตัวจริงคือประชาชน ถ้าประชาชนจำนวนมากมีฉันทามติ ส.ว.ก็ไม่อาจจะเอาอะไรมาต้านทานได้ "รัฐธรรมนูญที่ดี คือรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ คือรัฐธรรมนูญที่ต้องกำหนดหลักการแบ่งแยกอำนาจ ให้สถาบันการเมืองต่างๆ อย่างมีดุลยภาพ รัฐธรรมนูญที่ดีคือรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน ยืนยันหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ประกาศอย่างชัดแจ้งว่า ประชาชนมีอำนาจเลือกผู้ปกครอง มีอำนาจตรวจสอบผู้ปกครองที่เลือกไป มีอำนาจในการเปลี่ยนการตัดสินใจในการเลือกผู้ปกครองใหม่ มีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนกติกา เปลี่ยนรัฐธรรมนูญได้เสมอ ทั้งหมดนี้จะทำให้ประชาชนแสดงเจตจำนงตนเองได้อย่างแท้จริง และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มต้นด้วยการทวงคืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจากคณะรัฐประหาร กลับมาไว้ที่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง" นายปิยบุตร กล่าว