“อลงกรณ์” ดันเทคโนโลยีการเกษตรเชื่อมโยงข้อมูลต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้าง Gov Tech/Big Data สู่เกษตรสมัยใหม่ 4.0 นายอลงกรณ์พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการสาธิตการใช้งานเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการผลิตพืชผักในโรงเรือน นำร่องศูนย์เครือข่ายเรียนรู้ฯ วิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีว่า ตนให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการเกษตร ตามนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่จะนำไปสู่การสร้าง GovTech ของกระทรวงเกษตรฯตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นอย่างมาก จึงเร่งขับเคลื่อนการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลทุกภาคส่วนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยกระบวนการผลิต เพื่อนำไปสู่สังคมเกษตรกรรมสมัยใหม่ (Smart Agriculture) หรือเกษตร 4.0 ซึ่งจะเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือน ให้สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำก่อนการลงทุน “ขณะนี้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ แล้ว โดยมีภารกิจจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งจากในและต่างประเทศมาประยุกต์ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนฯ โดยนำร่องในพืชเศรษฐกิจประกอบไปด้วย ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมะเขือเทศ (ในโรงเรือน) เป็นต้น"ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว นอกจากการผลิตที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังสร้างระบบการจัดเก็บ โดยนำข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ทางการเกษตรต่างๆมาประมวลผลไปสู่การพัฒนา Big Data เกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ผ่านระบบ IoT Platform เพื่อให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนด้านการตลาด การขนส่งและระบบออนไลน์ “ผมมั่นใจว่าภายใต้การพัฒนาไปสู่เกษตร 4.0 นี้ เกษตรกรจะสามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าด้านการตลาดได้สูงขึ้นมากอย่างแน่นอน”นายอลงกรณ์ กล่าว นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเร่งผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรในโรงเรือน เพื่อป้องกันศัตรูพืช ลดการใช้สารเคมี รักษาสถาพแวดล้อม ซึ่งหากนำระบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้จะทำให้เกิดผลผลิตในเชิงปริมาณและคุณภาพ อาทิ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งสามารถผลิตมะเขือเทศได้ถึง 100 กิโลกรัม/ตารางเมตร/ปี ดังนั้นการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะจะต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเร็วๆนี้ นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด ด้าน นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การจัดงานสาธิตการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการผลิตพืชผัก (ในสภาพโรงเรือน) ในวันนี้นั้น ได้รับความสนใจจากเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Smart Farmer และ Young Smart Farmer ทั้งจากใน จ.สุพรรณบุรีและใกล้เคียง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แปลงเรียนรู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ((Smart Agriculture) ต้นแบบที่ศูนย์นี้เป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนของไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศให้ความสนใจและยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก สำหรับ โรงเรือนอัจฉริยะต้นแบบซึ่งทดลองปลูกมะเขือเทศ ที่ จ.สุพรรณบุรี นี้นั้น ข้อมูลที่ผ่านเซนเซอร์ต่างๆ จะถูกส่งผ่านระบบคลาวน์ (Cloud) เพื่อจัดเก็บ ประมวลผล และสั่งการทำงานของอุปกรณ์การเกษตรด้วยการควบคุมระยะไกล ผ่านระบบ IoT (Internet of Things) จากการตั้งค่าที่เครื่อง โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับกรรมวิธีการผลิตของเกษตรกรแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ข้อมูลต่างๆจะถูกนำมารวมรวบเป็น Big Data สำหรับนำมาประมวลผลในการบริหารจัดการ ขยายเครือข่าย และกำหนดทิศทางนโยบายด้านการเกษตรต่อไป