กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัย ในพื้นที่ 4 จังหวัด "อุบลฯ-ยโสธร-ศรีสะเกษ-ร้อยเอ็ด" เป็นระดับ3 พร้อมประสานทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.2562 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยต่อเนื่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด และสถานการณ์ดังกล่าวยังคงมีความรุนแรงก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ตรวจสอบแนวโน้มสถานการณ์ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบว่าอิทธิพลของลมมรสุมอาจส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน เห็นว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลมีระดับลดลงแต่ยังคงล้นตลิ่ง สอดคล้องกับความเห็นเชิงพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีว่าสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง และสถานการณ์ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ล่าสุดได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 3 ซึ่งถือเป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด โดยให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะผู้อำนวยการกลาง ดำเนินการและปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล อำนวยการ ประสานการปฏิบัติ ประเมินสถานการณ์ ติดตามเฝ้าระหว่าง วิเคราะห์สถานการณ์ และรายงานต่อผู้บังคับบัญชา พร้อมกันนี้ยังให้จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ขึ้น ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้กำกับควบคุมพื้นที่ (Area Command) โดยมีส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชน และให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจัดตั้งส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) โดยให้ประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย กับหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนจิตอาสา เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยเร็ว และเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายจะเร่งสำรวจความเสียหายในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านชีวิต ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ สิ่งสาธารณประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น เพื่อทำการฟื้นฟูให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว สำหรับการยกระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 3 ในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว เพื่อให้เกิดการประสานและบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน ทั้งในระดับนโยบายและระดับการปฏิบัติในพื้นที่ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อตอบสนองและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ "ขอให้ทุกหน่วยงานน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง คิดปรับแนวทางแผนเผชิญเหตุทั้งในภาพรวมและเฉพาะเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนรวบรวมความเสียหาย ประมาณการ ต่อยอด เตรียมการสิ่งใหม่ๆ และสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ เพื่อลดผลกระทบบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างเต็มกำลังความสามารถ"พลเอก อนุพงษ์ กล่าว