“เฉลิมชัย” สั่งฟื้นฟูอาชีพประมงทันทีหลังน้ำลด ลั่นปฏิรูปประมงทั้งระบบพัฒนาศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุน เตรียมวงเงินปล่อยกู้ จากธ.ออมสิน และธกส. กว่า 1 หมื่นล้านบาท จ่อแก้กม.ประมง ออกกฏเข้มกว่าไอยูยู เมื่อวันที่ 20 ก.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันสถานปนากรมประมง ครบ 93 ปี และเปิดงานวันประมงแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปีว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้ชาวประมงและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำเดือดร้อนจำนวนมาก จึงสั่งการให้กรมประมงฟื้นฟูอาชีพผู้ประสบภัยทันทีหลังน้ำลด เบื้องต้นจะมอบพันธุ์สัตว์น้ำและอาหารสัตว์น้ำ เพื่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงแล้วจับขายได้โดยเร็ว เป็นการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน สำหรับระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ จะปฏิรูปภาคการประมงทั้งระบบ โดยในส่วนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรายย่อยและชาวประมงพื้นบ้านจะส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่งเสริมการวมกลุ่มเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ สำหรับผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐในการสร้างความสมดุลของปริมาณการจับสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของธรรมชาติ ทำให้เรือประมงส่วนหนึ่งต้องออกจากระบบ ทางกระทรวงเกษตรฯ จะช่วยเหลือและเยียวยาเพื่อให้สามารถมีทุนประกอบอาชีพใหม่ได้ ส่วนสมาคมแห่งประเทศไทยร้องเรียนมาว่าข้อกฎหมายหลายประการเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพนั้น ได้สั่งการให้กรมประมงเร่งพิจารณาแก้ไข โดยอยู่บนพื้นฐานของการรักษาทรัพยากร เนื่องจากทรัพยากรทางประมงเป็นความมั่นคงทางอาหารและเป็นภาคส่วนหนึ่งที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ชาวประมง ผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านประมงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน นำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าประมงไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก ที่ผ่านมา สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม รวมทั้งสัตว์น้ำถูกจับจนเกินกว่ากำลังผลิตของธรรมชาติ แต่จากความร่วมมือของชาวประมงปฏิบัติตามนโยบายรัฐ ทำให้ภาคการประมงเกิดความยั่งยืนและความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำดีขึ้นเป็นลำดับทั้งนี้ ในวันที่ 21 กันยายน ซึ่งเป็นวันประมงแห่งชาติ กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมืองดจับสัตว์น้ำ 1 วัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรของไทย ยืนยันว่า จะปฏิรูปภาคการประมงทั้งระบบ เพื่อให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ “ได้เร่งแก้ไขปัญหาภาคประมง โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่สำคัญของชาวประมงที่เสนอผ่านสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยคือ การแก้ไขกฎหมายโดยผ่อนผันอัตราโทษข้อหาต่างๆ ซึ่งรุนแรงกว่าของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (IUU) รวมทั้งระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการออกทำการประมง ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ให้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อน จากนั้นตนจะนำเสนอแก้ไขกฎกระทรวงต่างๆ ตามกระบวนการ ย้ำว่า ร่างกฎกระทรวงที่จะเสนอแก้ไขนี้ต้องไม่ละเมิดกฎ IUU เพื่อที่ไทยจะสามารถส่งออกสัตว์น้ำได้โดยไม่ถูกกีดกันทางการค้า ขณะเดียวกันยังเป็นการรักษาความสมดุลระหว่างปริมาณการจับสัตว์น้ำและศักยภาพการผลิตของธรรมชาติเพื่อให้อาชีพประมงเป็นอาชีพที่ยั่งยืน”รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว นอกจากนี้ ยังกำชับกรมประมงให้ประสานกับธนาคารออมสินในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการประมงที่เรือมีขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งตามแผนงานนั้นกำหนดวงเงิน 5,300 ล้านบาทและประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอสซึ่งรวมถึงเรือประมงพื้นบ้านด้วยวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับเรือประมงพื้นบ้านนั้นบางส่วนมีทะเบียนถูกต้อง แต่บางส่วนไม่มีทะเบียนจึงต้องพิจารณารายละเอียดการช่วยเหลืออย่างรอบคอบ ซึ่งจะใช้เรือประมงเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยหากไม่เพียงพอจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมค้ำประกัน เป็นโครงการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงได้มากเนื่องจากต้นทุนในการออกเรือแต่ละครั้งนั้นสูง หากธนาคารทั้ง 2 แห่งตกลงให้ดำเนินการทันที ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้แทนชาวประมงได้ร่วมประชุมกับกรมประมงเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือประมงคราดหอย ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ.... โดยออกเป็นประกาศชั่วคราว ที่คงสาระประกาศฉบับเดิม โดยมีผลให้สามารถทำการประมงได้ในช่วงปี 2562-2563 เพื่อเป็นการศึกษาข้อมูลวิชาการ และข้อมูลการทำการประมงของชาวประมง การยกร่างประกาศโดยให้อำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในการกำหนดมาตรการ ใช้ชื่อเครื่องมือว่าอวนจับแมงกระพรุนและสิ้นสุดการบังคับใช้ ธันวาคม 2564 ความก้าวหน้าของการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำซึ่งแบ่งเป็น 2 โครงการ คือโครงการสำหรับกลุ่มเรือประมงนอกน่านน้ำและโครงการสำหรับเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้าน โดยกรมประมง จะต้องจัดทำรายละเอียดโครงการตามพระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ก่อนเสนอเข้า ครม. ประเด็นที่สำคัญอีกประการคือ การพิจารณาเปรียบเทียบบทลงโทษตามกฎหมายประมงกับกฎหมายสากล โดยการเปรียบเทียบระหว่าง EU และกลุ่มประเทศข้างเคียงประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาในฐานความผิดเดียวกันว่า แต่ละประเทศมีการดำเนินการอย่างไร มีการกำหนดโทษตามอัตราก้าวหน้าตามน้ำหนักเรือหรือไม่ และพิจารณากฎหมายเป็น 2 กลุ่มคือ ความผิดที่เกิดจากทรัพยากร และความผิดด้วยวิธีปฏิบัติ และจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบกฎหมาย และปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการทำประมง ซึ่งการเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นมีความคืบหน้าอย่างมากนี้ นับเป็นของขวัญในวันประมงแห่งชาติแก่ชาวประมงทั่วประเทศ