วันนี้ (20 ก.ย.) เวลา 11.00 น. ณ ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) แถลงข่าวผลการตรวจสอบกําไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ว่า กรมคุมประพฤติ ดำเนินการทำสัญญาเช่ากำไล EM พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำผิด จำนวน 4,000 เครื่อง ตั้งแต่ ม.ค.62 - ก.ย.63 ระยะสัญญา 21 เดือน ด้วยงบประมาณ 74,470,000 บาท กับ บริษัท สุพรีม ดีสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด โดยลงนาม เมื่อวันที่ 14 ส.ค.61 ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ส.ค.62 ได้มีการพิสูจน์กำไล EM พบว่ามีความบกพร่องสามารถถอดออกจากข้อมือได้ด้วยสารหล่อลื่นจริง และ ไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนมายังศูนย์ปฏิบัติการ EM กรมคุมประพฤติจึงเร่งรัดให้บริษัทดังกล่าวแก้ไขให้ครบถ้วนแต่บริษัทได้ผิดเงื่อนไข พร้อมทำการได้ยกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.62 นายสมศักดิ์ เผยอีกว่า โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. กรมคุมประพฤติ ได้ออกหนังสือแจ้งไปยัง บริษัทดังกล่าว ให้รับทราบแล้ว และให้ชำระค่าเสียหาย จำนวน 83,825,810 บาท ภายใน 15 วัน แบ่งค่าเสียหายเป็น 1.เกิดจากการส่งมอบกำไล EM ล่าช้า คิดเป็น 1,712,810 บาท 2.ค่าปรับที่เกิดจากการไม่นำอุปกรณ์มาเปลี่ยนใหม่ให้ภายในเวลาที่กำหนด เป็นจำนวนเงิน 302,500 บาท 3.ค่าปรับกรณีผู้ให้เช่าไม่สามารถนำอุปกรณ์ฯ มาเปลี่ยนให้ใหม่ เป็นระยะเวลาติดต่อกันเกิน 15 วัน นับจากกรมแจ้ง ซึ่งมีจำนวน 4,000 เครื่องๆ ละ 500 บาทต่อ 1 วัน คิดเป็น 52 ล้านบาท 4.ความเสียหายจากเจ้าหน้าที่บริษัทดังกล่าว 2 ราย ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ EM เซ็นเตอร์ คิดเป็น 22,500 บาท และ 5.ค่าเสียหายของกรมคุมประพฤติที่ไม่ได้ใช้งบประมาณปี 61 จำนวน 21,600,000 บาท และไม่ได้ใช้งบประมาณปี 62 อีก 8,188,000 บาท รวมเป็นเงิน 29,788,000 บาท หากไม่ชำระตามวันเวลากำหนด กรมคุมประพฤติ จะส่งเรื่องให้ สำนักอัยการ ดำเนินคดีในฐานะฝ่ายกฎหมายของหน่วยงานรัฐ "หลังจากนี้ กรมคุมประพฤติ ต้องแจ้งรายงานไปยังศาลเพื่อของดใช้กำไล EM จนกว่าจะสามารถปรับปรุงในทางปฏิบัติได้ ส่วนผู้ถูกคุมประพฤติด้วยกำไล EM ขณะนี้มีประมาณ 541 เครื่องจะทยอยยกเลิกและให้ศาลใช้ดุลยพินิจดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การใช้กำไล EM เป็นนโยบายของกระทรวงยุติธรรมเพื่อลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีกว่า 3 แสนคน ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเข้าใหม่เพิ่มสูงขึ้นกว่าการลดโทษหรือพักโทษ การแก้ปัญหาตรงจุดนี้ต้องอาจปรับปรุงข้อกฎหมาย ขยายเรือนจำ โดยให้ ปลัด ยธ. ตั้งคณะกรรมการพิจารณาภายในงบประมาณปี 63" นายสมศักดิ์ กล่าว ด้าน นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า กรมคุมประพฤติ ได้ส่งหนังสือไปยังศาลยุติธรรม แจ้งยกเลิกสัญญากับศาลทั่วประเทศ โดยศาลจะมีเงื่อนไขอื่นมาทดแทน เช่น ต้องมารายงานตัวตามวันเวลากำหนด หรือ บำเพ็ญประโยชน์บริการสังคม เป็นต้น หากศาลพิจารณาแล้วว่าจำเป็นก็สามารถใช้กำไล EM ของศาลแทนได้