ผู้ว่าฯตรัง “จับมือ”มอ.ตรังระดมความคิดศึกษาออกแบบงานวิจัยการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรมและพะยูนลิบง ทำเป็นข้อเสนอจังหวัดบรรจุเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดผลักดันให้เกาะลิบงเป็นเกาะโมเดลต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์อนุรักษ์พะยูน หญ้าทะเลอย่างยั่งยืน ลดอัตราการตายที่กำลังวิกฤติหนักในขณะนี้ โดยให้ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านมีส่วนร่วม วันที่ 20 กันยายน 2562 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ,วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย 2 โครงการ คือ การท่องเที่ยวเมืองเก่าจังหวัดตรัง และงานวิจัยเรื่องหญ้าทะเล เกาะลิบง นำเสนอต่อเวทีเสวนา “การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตามเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรมและพะยูนเกาะลิบง” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ผู้แทนจากภาคส่วนราชการ ประชาชน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านจากเมืองเก่า และเกาะลิบง ประธานวิสาหกิจชุมชนร่วมเสวนา เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลระดมความคิดเห็นในการออกแบบงานวิจัยต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองเก่าทั้ง 4 มุมเมืองของจังหวัด (ห้วยยอด,ทับเที่ยง ,ท่าข้าม และกันตัง ) ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชุมชน รวมเป็นเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรมกับพะยูนเกาะลิบง โดยมุ่งพัฒนาเกาะลิบงเมืองหลวงของพะยูนให้เกาะลิบงเป็นเกาะต้นแบบ “ลิบงโมเดล” ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศน์ พะยูน หญ้าทะเล ทรัพยากรชายฝั่งให้อุดมสมบูรณ์ ลดอัตราการตายที่กำลังเสี่ยงหนักอยู่ขณะนี้ เนื่องจากเพียง 9 เดือน ทะเลตรังมีพะยูนตายไปแล้วจำนวน 11 ตัว ซึ่งมีทั้งพะยูนตัวเต็มวัยและพะยูนวัยเด็ก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต หากไม่ร่วมกันศึกษาวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปขับเคลื่อนผ่านแผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือผ่านกระทรวง กรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรมสุดอันดามันเพียงเส้นทางเดียวในประเทศไทย สู่เกาะลิบงเมืองหลวงของพะยูนให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเกิดความมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาอนุรักษ์พะยูนอย่างจริงจัง สร้างรายได้การท่องเที่ยวและดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งเกาะลิบงเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง มีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของหญ้าทะเลผืนใหญ่เนื้อที่กว่า 18,000 ไร่ มีพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศอาศัยอยู่ประมาณ 180 ตัว แต่ขณะนี้ตายลงต่อเนื่อง ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (Ramsar Site) และกำลังได้รับการพิจารณาเตรียมเสนอเป็นอุทยานมรดกอาเซียนในปีหน้า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงและจังหวัดตรังอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกาะลิบงก้าวเป็นเกาะต้นแบบแห่งอาเซียน (ASEAN Sea Word) โดยสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย 6 จังหวัดอันดามันในการดูแลพะยูนและหญ้าทะเล ลดอัตราการตาย เตรียมจัดทำเป็นแผนแม่บทเสนอรัฐบาลพิจารณา และให้เป็นโครงการใหญ่ของประเทศไทยที่จะนำเสนอในการประชุมงานวิชาการพะยูนโลกที่จ.ตรัง ปีหน้า นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาเป็นฐานข้อมูลให้ในฐานะที่เป็นฝ่ายวิชาการ เพราะการพัฒนาอะไรก็ตามจะต้องมีฐานทางวิชาการมาสนับสนุน และต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายโดยตรง เพื่อทำเป็นข้อเสนอมาให้จังหวัด โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ข้อเสนอระดับนโยบายซึ่งทางจังหวัดจะผลักดันข้อเสนอไปยังหน่วยงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 2.ส่วนในระดับปฏิบัติในจังหวัด ทางจังหวัดจะนำข้อเสนอเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัด หรือแผนกลุ่มจังหวัด และ 3. ข้อเสนอในระดับชุมชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในร่วมพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เกาะลิบงโมเดลเป็นตัวหลักในการคิดวิเคราะห์ จะออกมาเป็นรูปแบบเกาะต้นแบบแห่งอาเซียน หรือเป็นอะไรก็ได้ ทางจังหวัดเตรียมผลักดันเต็มที่ เนื่องจากเกาะลิบง มีพะยูน มีหญ้าทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรชายฝั่งและเป็นที่รู้จักในพื้นที่ชุ่มน้ำโลก จะถูกเสนอเป็นมรดกอาเซียนในปีหน้า อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์พะยูน หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก และสิ่งแวดล้อม ทางจังหวัดตรังเร่งเดินหน้าเต็มที่ทั้งจะกำหนดไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัด กำหนดแผนแม่บท และเตรียมเป็นเจ้าภาพเวทีประชุมวิชาการพะยูนโลกที่จะจัดขึ้นที่จ.ตรัง ในปีหน้าด้วย