ราชบุรีจัดประชุมสรุปความคืบหน้าการเก็บกู้เคลื่อนย้ายทำลายวัตถุระเบิดสงครามโลกใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ เตรียมของบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในการเก็บกู้ฯประมาณ 70 ล้านบาท ยื่น ครม.อนุมัติกู้ปี 63 ( 19 ก.ย. 62 ) นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานการประชุมแถลงผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 4 /2562 ที่ห้องประชุมโรงแรมเดอะคาแนล อ.เมือง จ.ราบบุรี โดยมี พ.อ.พิสิฐ ปั้นทอง รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 16 นายสถิตย์ แก้วมณี หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงาน ปภ.จังหวัดพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแถลงผลการสรุปผลความคืบหน้าการเก็บกู้วัตถุระเบิดสมัยสงครามโลก บริเวณใต้สะพานจุใลงกรณ์ เขตเทศบาลเมืองราชบุรี เพื่อก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ที่ตัดผ่านแม่น้ำแม่กลอง นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเผยว่า จ.ราชบุรี ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การเก็บกู้ เคลื่อนย้ายและทำลายวัตถุระเบิด ในแม่น้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 โดยมีนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีการตั้งคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน ฝ่ายต่าง ๆ โดยมีการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติ เลือกวิธีการเก็บกู้วัตถุระเบิด โดยการตัดที่แผ่นปิดท้ายหรือส่วนท้ายของลำตัวลูกระเบิดอากาศด้วยเครื่องมือตัดด้วยน้ำแรงดันสูง เพื่อแยกชนวนลูกระเบิดอากาศ ก่อนทำการเคลื่อนย้ายไปทำลาย ณ สนามทำลายวัตถุระเบิด แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพวุธทหารบก พร้อมทั้งให้ รฟท.นำแบบแปลนการก่อสร้างสะพานแขวนเสนอคณะกรรมการเขตอนุรักษ์เมืองเก่าพิจารณาอนุญาต โดยให้ทำประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่ก่อนจะดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเก็บกู้ เคลื่อนย้ายทำลายวัตถุระเบิด โดยจังหวัดราชบุรี ได้ประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ พิจารณาค่าใช้จ่ายการเก็บกู้ เคลื่อนย้ายฯ เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา กับหน่วยปฏิบัติการ รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 70,879,257 บาท ( เจ็ดสิบล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันสองร้อยห้าสิบเจ็ดบาท ) ทางสำนักงาน ปภ.จังหวัด จะดำเนินการสรุปยอดค่าใช้จ่ายและเสนอของบประมาณการดำเนินการไปยังกระทรวงมหาดไทย พ.อ.พิสิฐ ปั้นทอง รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 16 กล่าวในที่ประชุมว่า สำหรับการกู้วัตถุระเบิดนั้น หลังจากได้มีการตั้งงบประมาณเสร็จแล้วก็จะให้ ปภ.เพื่อดำเนินการของบประมาณจากส่วนกลางไปตามขั้นตอน เมื่อได้งบประมาณอนุมัติมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการจัดหาซื้อยุทโธปกรณ์ การเรียนรู้วิธีการใช้ จากนั้นจึงเริ่มปฏิบัติการ ซึ่งทางกองทัพเรือได้วางแนวทางไว้เป็นขั้นตอนอย่างละเอียด คาดว่าน่าจะประมาณปลายปี 2563 จึงจะสามารถดำเนินการปฏิบัติการเก็บกู้ทำบริเวณจุดที่พบระเบิด จำนวน 7 ลูก เพื่อทำให้เสื่อมสภาพด้วยวิธีการของผู้เชี่ยวชาญ และจะขนตัววัตถุระเบิดไปทำลายอีกครั้ง ส่วนแนวทางก็จะทำบังเกอร์ใต้น้ำเซฟแรงกระแทก พร้อมกับทำบังเกอร์บนบกและจะอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ ทุกอย่างจะมีการป้องกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แล้วว่าระเบิดยังคงอนุภาพการทำงานอยู่ เราหวังให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับประชาชน เพื่อจะได้เตรียมตัวจะได้ไม่ตื่นตระหนกตกใจ สำหรับงบประมาณรวมกว่า 70 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ประมาณ 50 ล้านเศษจะเป็นค่ายุทโธปกรณ์ที่ต้องซื้อเครื่องตัดเหล็กใต้น้ำ และเครื่องบอลลูนที่จะยกลูกระเบิดขึ้น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าอพยพประชาชน และส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดยังเปิดเผยอีกว่า นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัด อยากให้ประชาชนมีผลกระทบน้อยที่สุด โดยงบประมาณดังกล่าวจะเสนอผ่านกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเสนอเข้า ครม. เนื่องจากเป็นงบแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า อีกทั้งเร็ว ๆ นี้จะมี ครม.สัญจรที่ จ.กาญจนบุรี อาจจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้า ครม.สัญจรที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งจะเป็นช่องทางที่รวดเร็วขึ้นในการอนุมัติงบประมาณดังกล่าว เพื่อจะได้ดำเนินการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และเตรียมการในขั้นตอนต่อไป