ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งท้ายกันด้วย ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 กรณีการถวายสัตย์ฯไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 9ชั่วโมงครึ่ง น้อยกว่าที่ตั้งเป้า กันเอาไว้ที่ 24.00 น.ของวันที่ 18 ก.ย. แต่สาระสำคัญของการบริหารสาระและความเข้มข้นในสภาฯ ของ “7พรรคฝ่ายค้าน” รอบนี้กลับกลายเป็นการปิดเกมที่ ขาดความหวือหวา เพราะไม่เพียงแต่จะไม่สามารถ “ถล่ม” พล.อ.ประยุทธ์ ให้ตายคาสภาฯได้แล้ว ยังกลายเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเลือกที่จะไม่ตอบญัตติเรื่องของการถวายสัตย์ฯ แต่มอบหมายให้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถาม และรับมือกับฝ่ายค้านแทน โดยสาระที่วิษณุ นำมาตอบคำถามโดยรวมในที่ประชุมสภาฯ คือการระบุว่า “ การถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์” “ หลายคนวิตกกังวลว่าหากทำไม่ถูก จะโมฆะ อย่าฝันร้าย เพราะไม่มีเหตุที่เกิด ไม่มีปัญหาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ไม่รับคำร้องทั้งหมด และให้เหตุผลตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาความของศาลฯ ระบุไว้ คือ เป็นความเห็นเอกฉันท์ของศาลไม่รับ เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง และเมื่อจบการถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระมหากษัตริย์พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้ ครม. น้อมนำเป็นแนวทางทำงาน และต่อมาครม. ได้เข้ารับพระราชดำรัสที่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณจึงไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ซึ่งสภาฯ คือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่นกัน” การตอบคำถามของวิษณุ ต่อประเด็นที่ฝ่ายค้าน เคยหวังว่าจะนำมาใช้ “ล้มรัฐบาล” นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ยิ่งเมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ( 4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98(15) หรือไม่ จากเหตุดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า หัวหน้าคสช.ไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98(15) ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา จึงเท่ากับเป็นผลในทางบวกต่อตัวพล.อ.ประยุทธ์ อย่างชัดเจนว่าในวันเดียวกัน 18 ก.ย. เขาสามารถฝ่าด่านได้ทั้ง ศึกอภิปรายฯโดยไม่ระคาย จากวิวาทะของ “7 พรรคฝ่ายค้าน” รวมทั้ง “สถานะ” ของพล.อ.ประยุทธ์ ยังได้รับการรับรองจากศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี การเปิดเกมถล่ม พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเกมในสภาฯ เพราะมาจากอดีตนายทหาร มิหนำซ้ำเมื่อวันแถลงนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เองยังถึงขั้น “ฟิวส์ขาด” กลางห้องประชุมสภาฯมาแล้วเมื่อเจอกับการยั่วยุจาก “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และแน่นอนว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. หลายคนที่ไม่ใช่แฟนคลับของนายกฯ รวมทั้งฝ่ายค้านย่อมคาดหวังว่าจะได้เห็น “อาการฟิวส์ขาด” จากพล.อ.ประยุทธ์ อีกรอบ เพราะอย่างน้อยแม้การซักฟอกจะทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมลาออก ตามเสียงเรียกร้องจากฝ่ายค้านที่มีขึ้นตลอดทั้งวันของการอภิปราย แต่อย่างน้อยที่สุด การกดดันบีบให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้อง “เสียอาการ” กลางสภาฯ ก็ถือว่าเป็นของติดมือ ติดไม้ก่อนปิดสมัยประชุมฯ ได้เช่นกัน แต่แล้ว พรรคฝ่ายค้านกลับไม่สามารถบริหาร “ความได้เปรียบ” จาก “เกมในสภาฯ” ได้ตามเป้า นั่นเป็นเพราะส่วนหนึ่ง พรรคฝ่ายค้านเอง ไร้ “ขุนพล” ตัวจริงเสียงจริง บรรดาส.ส.ที่ถูกจัดให้ขึ้นแท่นระดับ “ดาวสภาฯ” ก็ยังไม่มีอาวุธหนัก ที่จะออกหมัด ได้อย่างมีน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยเอง หรือหากจะหันไปพึ่งพาพรรคอนาคตใหม่ ก็กลับต้องเจอกับแกนนำในระดับที่เคยปราศรัย ทำกิจกรรมในเวทีเชิงวิชาการ ใช้เวทีสัมมนาอภิปราย มากกว่าที่จะมีความเชี่ยวกรำ เหมือนนักการเมือง ขุนพลของฝ่ายค้านจึงเปรียบเสมือน “ทหาร” ระดับ “นายพัน” ไปจนถึง “ นายสิบ” ต้องผลักออกมาหน้าเวที ด้วยความจำกัด ด้วยเหตุที่ระดับ “นายพล” ของพรรคเพื่อไทยต่าง “สอบตก” กันถ้วนหน้า ! ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ นอกเหนือไปจากเสียงเรียกร้องจากฝ่ายค้านจี้ให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีถวายสัตย์ฯไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่กลายเป็นแผ่นเสียงตกร่องแล้ว ทางฝ่ายรัฐบาลเอง รวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์ ที่เลือก “ตอบ” ในคำถามที่ตนเองต้องการตอบ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นของการถวายสัตย์ฯ ล้วนแล้วแต่เป็น “แบบฝึกหัด” ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ว่าต่างได้อะไร จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ต่างมองเห็น จุดอ่อน จุดแข็งของฝั่งตรงข้ามหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เงื่อนไขปัจจัยที่ว่ากันว่า เหตุที่ทำให้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ กร่อยสนิทก็เพราะมีขึ้นผิดจังหวะเวลา เพราะยามนี้ ระหว่างเรื่องน้ำท่วม กับการถวายสัตย์ฯ พี่น้องประชาชน จะให้ความสนใจเรื่องไหนมากกว่ากัน !?