ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “อัศจรรย์ของการรับรู้ คือนัยสำคัญจากการใคร่ครวญและเรียนรู้อันถ้วนถี่และลึกซึ้ง มันคือความหมายอันงดงามที่ประกอบสร้างขึ้นด้วยวิถีแห่งโลกอันพิสุทธิ์ของต้นธารความคิด ที่เสริมส่งถึงแรงบันดาลใจในภาวะแห่งการตอบสนองต่อวิสัยทัศน์นานาโดยสมบูรณ์...กระทั่งกลายเป็นความสดใหม่ที่ส่งผลถึงกระบวนการแห่งการปรับแปลงพื้นฐานของชีวิตให้สามารถเชื่อมโยงถึงภาวะอันยิ่งใหญ่ในความเป็นสัจจะที่หยั่งเห็นได้...โดยแท้.....” รากฐานในประเด็นความคิดเบื้องต้นคือแก่นสารที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ ผ่านศิลปะของการตระหนักรู้...ไม่ว่าเราแต่ละคนจะมีความคิดในเชิงประจักษ์ไปในทางเก่าหรือไม่เช่นไรก็ตาม!..., “ศิลปะของการคิดใหม่”(the art of idea) หนังสืออันทรงคุณค่าของยุคสมัย ผลงานแห่งการสืบค้นอันน่าศึกษาของ”จอห์น ฮันต์”(JOHN HUNT)นักเขียนบทละครและนักประพันธ์ระดับรางวัล/ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ/TBWA..ธุรกิจดิจิตอลที่มีชื่อเสียงระดับโลกชาวแอฟริกาใต้.../ผู้เชี่ยวชาญในการเผยแพร่ความรู้เรื่องความคิดสร้างสรรค์ในทุกรูปแบบ...โดยมีคติในการทำงานที่น่าใคร่ครวญว่า”ชีวิตสั้นเกินกว่าจะอยู่อย่างคนทั่วไป” อะไรคือนิยามของความคิดใหม่???/นั่นคือสิ่งที่หลายคนย่อมต้องการที่จะรู้ ย่อมต้องการที่จะสัมผัส ณ บทเริ่มต้นแห่งการอ่านหนังสือเล่มนี้...ซึ่งฮันต์..ก็ได้อธิบายถึงปริศนาดังกล่าวนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า...ความคิดใหม่มักแห้งเหี่ยว เพราะเรากลัวว่าสภาพแวดล้อมของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอนที่สุด แต่ถ้าหากเราไม่ได้อยู่ในเทศะนั้น เราก็ไม่มีทางร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ...”ความคิดใหม่หนึ่งที่กำลังทำงานสามารถเปลี่ยนรูปปรับตัวรับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ แต่ถ้ารอคอยให้ทุกสิ่งสมบูรณ์แบบก่อนแล้วจึงจะเข้าร่วมด้วย ก็คงต้องใช้เวลาชั่วนิรันดร์” ทัศนะในลักษณะดังกล่าวสามารถบ่งชี้ถึงว่า...ความคิดที่ชาญฉลาดที่สุดนั้น มาจากผู้เรียนรู้ที่จะแล่นเรือไปในหนทางที่มิอาจคาดหมาย หรือบอกไม่ได้ล่วงหน้า มันเป็นไปได้ว่า...พวกเขาอาจต้องร่วงจากเรือเป็นบางครั้ง แต่ย่อมไม่ย่อท้อที่จะขึ้นจากน้ำ ...ภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเสมอนี้ นำมาซึ่งรางวัลของมันเองด้วยวิธีที่แปลกประหลาด ซึ่งอาจทำให้พวกเขาสงบนิ่งขึ้นก็ได้...และถ้าหากรู้แน่ว่าขณะที่มองไปทางขวาจักต้องถูกฟาดจากทางซ้าย...ช่วงเวลาที่น่ากลัวอย่างแท้จริงย่อมต้องคือ ณ ขณะที่ ทุกสิ่งได้เป็นไปตามแผนอย่างไม่ผิดเพี้ยนต่างหาก “กลเม็ดเด็ดขาดก็คือให้เราทุกคนรู้สึกผ่อนคลายกับความไม่แน่นอน และหากเป็นไปได้ ก็อาจถึงขั้นสนุกกับมัน ความคิดใหม่หนึ่งๆสามารถกระดิกตัวผ่านได้กับทุกสิ่ง แต่ช่องสี่เหลี่ยมที่ปิดทึบของจิตใจที่ตึงเครียดถือเป็นอุปสรรคที่ท้าทายอย่างยิ่ง เป็นเรื่องยากที่จะเกิดการแผ่เผยหากทุกสิ่งที่เราอยากให้แผ่เผยคือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว” เหตุนี้ที่มาที่ไปของความคิดใหม่จึงมีรากเหง้าเป็นดั่งข้อสรุปนัยความหมายอันสำคัญที่ชี้ให้ตระหนักรู้ว่า... มันคือการแสวงหาของปัจเจก ซึ่งเราทุกคนต้องหามุมมองแห่งแรงบันดาลใจในวิถีของเราเอง ...เราต่างรู้ว่ามันมีอยู่ เพียงแต่เราต้องเรียนรู้ว่า จะเรียกมันออกมาได้อย่างไร???....การไม่รู้ล่วงหน้าอย่าง แจ่มชัดว่า จะตอบสนองเสียงเรียกร้องอย่างไรนั้นไม่ควรทำให้การเดินทางของเราสะดุดหยุดลง..ข้อเท็จจริงที่ว่า...เราเริ่มต้นโดยไม่รู้แน่ว่า เราจะไปที่ไหน???...”คือสิ่งที่ทำให้การแสวงหานั้นสูงส่ง และทุกๆความคิดริเริ่มล้วนมี..ดอนกิโฮเต้น้อยอยู่ด้วยทั้งสิ้น โรงสีลมเหล่านั้นอยู่ในจิตใจของเรา และเราไม่ควรหวั่นเกรงที่จะมุ่งเข้าหามัน” คำอธิบายนัยในเชิงปฏิบัติต่อความคิดใหม่ ...ผ่านชีวิตแห่งวรรณกรรมชิ้นสำคัญของโลกตรงส่วนนี้...เน้นย้ำถึงตรรกะที่ได้กลายเป็นความไหวเคลื่อนอันสำคัญที่ว่า..”โลกนี้วิ่งไปเพราะมีสาเหตุ ไม่ใช่เพราะมีใครสั่ง”...ทั้งนี้เพราะ ...จริงๆแล้วในระบบองค์กรขนาดใหญ่ ถ้าหากคนที่อยู่รายรอบความคิดใหม่รู้สึกว่าตนเป็นเพียงผู้ดู ก็จะกลายเป็นผู้สร้างช่องตรายางและเครื่องหมายถูกให้...แต่แท้จริงแล้วอำนาจในลักษณะนี้มักจะเลือนหายไปอย่างลึกลับ ...ความคิดใหม่ที่มีผู้รับรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีผู้รับเอาไปใช้ ทว่าหากทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ...สิ่งมหัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้น..ความคิดใหม่จะกลายเป็นความเคลื่อนไหว...”ความคิดใหม่จะเป็นของทุกคน วัตถุดิบใหม่ๆจะถูกป้อนเข้าสู่ความเคลื่อนไหวนี้ และที่ดียิ่งกว่านั้นก็คือระบบขององค์กรขนาดใหญ่ที่คอยควบคุมอยู่ที่พรมแดนของความคิดใหม่จะไม่ขอให้ใครเปิดกระเป๋าเอาทุกสิ่งออกมาดูในทุกครั้งที่ข้ามพรมแดนอีกแล้ว...ทั้งนี้ก็เพราะสินค้าที่กำลังขนส่งนั้นเป็นของพวกเขาด้วย...ถึงมันจะฟังดูขัดแย้ง แต่เพราะตอนนี้ผู้คนเข้าใจความคิดใหม่ดีขึ้นแล้ว มันจึงง่ายขึ้นที่จะเคลื่อนไป การควบคุมลดลง ณ ปัจจุบัน ก็เพราะเกิดผลตอบรับขึ้นภายในอย่างเป็นธรรมชาติ”.. ..ในบทเริ่มต้นทางความคิด ...”จอห์น ฮันต์”ในฐานะผู้สร้างสรรค์หนังสือเล่มนี้ได้ระบุประเด็นความหมายเอาไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า ... การให้นิยามการเกิดความคิดใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางครั้งความคิดใหม่ก็เกิดฉับพลันทันทีอย่างไร้วี่แวว แต่ทว่าบางครั้งกว่ามันจะเกิดขึ้นได้...”ก็ต้องโปรยขนมปังป่นเป็นแถวยาวเข้าหลอกล่อ...แต่นั่นกลับถือว่าเป็นเสน่ห์และความท้าทายของความคิดริเริ่ม”...ในทัศนะของฮันต์..นั่นมาจากความจริงที่ว่า ..การเริ่มต้นที่เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะไปลงเอย ณ ที่ใด สาระนั้นจะอยู่กับใครก็ตามที่กำลังตามหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกันแต่เราไม่ได้คาดคิด...สิ่งอันคิดไม่ถึงนี้อาจคือสิ่งที่เผยตัวตนอย่างแจ่มชัดด้วยวิธีการใหม่ๆ และการเกิดของมันก็ย่อมจะสร้างความประหลาดใจให้แก่ทุกคนอย่างแน่นอน ...สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เข้าเรื่องด้วย...มันจึงจะทำให้ความคิดใหม่นั้นเป็นประโยชน์....”เหตุนี้...ความคิดใหม่จึงมักจะยุ่งเหยิงอยู่ระหว่างแรงบันดาลใจกับความต้องการที่จะให้ความคิดนั้นมีเหตุผล ปัญหาก็คือ ขณะที่ตรรกะพยายามจับคู่เต้นรำกับความอลวนนี้ ทุกคนจะเริ่มประหวั่น แล้วผละหนีไป”...มันจึงเป็นบทเริ่มต้นที่นำมาสู่ความย้อนแย้งแปลกๆ...ทั้งนี้ก็เพราะว่าขณะที่เรากำลังตะโกนอย่างดังลั่นว่า...เรากำลังเคลื่อนจากยุคข้อมูลข่าวสารไปสู่ยุคความคิดใหม่ อีกไม่นาน...ความคิดใหม่ก็จะก้าวขึ้นสู่การเถลิงอำนาจ หากแต่ความคิดริเริ่มก็จะกลายเป็นเพียงคุณค่าเดียวที่หมุนเวียนแลกเปลี่ยนกัน.. “. “จอห์น ฮันต์” ได้ตั้งคำถามขึ้นมาสู่สภาวการณ์ของวิกฤตปัญหาแห่งยุคสมัยทางความคิดในห้วงขณะแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า...ผู้คนและองค์กรใหญ่ๆต่างต้อนรับรุ่งอรุณของยุคทองนี้...แต่พวกเขาได้ต้อนรับกันอย่างไร??? ..พวกเขาต่างทำตัวเหมือนทำมาก่อนทุกอย่าง โดยหวังว่า การทำซ้ำอย่างเคร่งครัดจะทำให้แสงทองสว่างขึ้นมาได้เอง..กลยุทธ์เช่นนี้ของพวกเขาชัดเจน มันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะดำรงซึ่งสถานภาพอันง่อนแง่นไว้...และต้องยึดมั่นไว้ให้แน่นยิ่งขึ้น...ปฏิกิริยาเช่นนี้...”ฮันต์”ได้วิเคราะห์ว่ามันมาจากหลายสาเหตุ...ไล่เรียงมาตั้งแต่โรงเรียนที่สอนให้เราเรียน แต่ไม่สอนให้เราคิด ไปจนถึงบริษัทที่อึดอัดกระอักกระอ่วนกับคนที่มีความคิด ราวกับผื่นคันผุดโผล่ขึ้นมาอย่างเฉียบพลันในที่ที่ไม่เหมาะสมบนเรือนร่างของหน่วยงาน ไม่ว่าสาเหตุจะคืออะไร...แต่ ผลที่ออกมาก็คือว่า คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจธรรมชาติของการมีความคิด ..ไม่ว่าจะเห็นว่านั่นเป็นประสบการณ์ลึกลับของผู้วิเศษ ที่ต้องใช้ลูกแก้วบนหน้าผากเป็นตัวช่วย หรือสับสนกับความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นก็ตาม.... “ตลอดชีวิตของผม ผมทำงานกับความคิดและกับผู้พยายามจะมีความคิดเท่านั้น สำหรับผม นี่คือประสบการณ์แห่งญาณทัศนะ ผมรักการอยู่ในที่ที่ความคิดใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงในปัจจุบัน และบางครั้งก็ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโลก...อย่างไรก็ดี นานต่อมา ผมจึงได้เพิ่งรับรู้ถึงรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นรอบๆผู้คนและองค์กรที่มีความคิดและที่ไร้ความคิด...ดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับผมที่ความคิดซึ่งจับต้องไม่ได้และเกิดขึ้นอย่างปุบปับนั้น จะถั่งท้นหรือลดลงตามธรรมชาติของมันเอง แล้วผมยังสงสัยในกฎเกณฑ์ต่างๆอย่างลึกซึ้งด้วย ...แต่ไม่ว่าผมจะอยู่ตรงส่วนไหนของโลก ไม่ว่าจะต้องทำงานกับผู้คนสัญชาติใด ยิ่งผมเฝ้าดูมากเท่าไหร่ รูปแบบต่างๆก็ยิ่งปรากฏให้เห็นมากขึ้นเท่านั้น”....การเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเผยแพร่ความรู้เรื่องความคิดสร้างสรรค์ในทุกรูปแบบ...สามารถทำให้”ฮันต์”ได้สร้างสรรค์และแจกแจงองค์รวมแห่งหนังสือเล่มสำคัญเล่มนี้ของเขาได้อย่างเปิดกว้างและเข้าใจ...มันคือภาพแสดงที่หยั่งลึกของความคิดริเริ่มในนามแห่งความคิดใหม่ที่ทรงพลัง...และมีมิติไขว้สลับอยู่รอบด้าน...แสดงถึงข้อสรุปแห่งการหยั่งเห็นที่แม่นตรงและเป็นสัจจะที่ว่า”เราทุกคนควรต้องแสดงบทบาทของเรา”...อันเป็นความคิดหลักในเชิงหลักการที่มีการจัดการ และหยั่งเห็น... ไม่ใช่แค่เฉพาะขณะของการค้นพบอย่างฉับพลันโดยบังเอิญ... “การหยั่งเห็นจะเกิดขึ้นเมื่อเราค้นหาความหมายของมันมากกว่าข้อเท็จจริง...เราจะหยั่งเห็นได้เมื่อเราใช้สมองอย่างแข็งขัน การสั่งสมข้อมูลอย่างเรื่อยเปื่อยจะไม่ช่วยอะไรเราเลย เช่นเดียวกับคนที่เอาแต่สลับสับเปลี่ยนหีบห่อ ย่อมต้องรับรู้ว่า ผลงานที่ตนทำขึ้นนั้นมีแต่หนาด้วยข้อมูล ...เพราะพวกเขาหยั่งเห็นได้น้อย” “ ศิลปะของการคิดใหม่”.(the art of idea).คือหนังสือที่...เกิดจากการหยั่งเห็นอันสมบูรณ์... เกิดจากความกระจ่างแจ้งจากการวิเคราะห์ความหมายแห่งความเป็นไปของชีวิตอย่างไม่หยุดนิ่ง..”โตมร ศุขปรีชา”ถ่ายทอดความหมายของหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างประณีตบรรจง..ลึกซึ้งและเข้าใจในแก่นแกนของภาษาสำนึก...อันมีส่วนเสริมส่งให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นแบบเรียนของความรื่นรมย์ที่สดใหม่ของชีวิต ไกลห่างจากความครอบงำ... กระทั่งเป็นข้อผูกพันแห่งชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราไปสู่ความเที่ยงแท้ที่สมควรจะเป็น...นิรันดร์ “ไม่ว่าความคิดใหม่จะเกิดขึ้นอย่างไร กฎทองคำก็คือจักต้องเฉลิมฉลองการมาถึงของมัน ไม่ใช่โศกเศร้า และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือความจริงที่ว่า...ความคิดใหม่ไม่ใช่ตัวแทนของสภาพความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องปล่อยให้เป็นไปเท่านั้น ...แต่มันคือข้อผูกพันอันลึกซึ้งเลยทีเดียว”