สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กำหนดจัดงาน “ประชุมวิชาการ สวก. 2562” ภายใต้แนวคิด “Beyond Disruptive Technology” จุดเปลี่ยนอนาคตไทย ด้วยงานวิจัยเกษตร เพื่อแสดงถึงการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับกลไกการขับเคลื่อนประเทศไทยจากการเกษตรแบบเดิมไปสู่ยุคการเกษตรที่ขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม สวก. จึงได้ผลักดันและสนับสนุนงานวิจัย เพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย บนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามมาตรฐานการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2562 เวลา 8.30 – 16.30 น. ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการ สวก. 2562 เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศ ซึ่งปีนี้ สวก. ได้คัดสรรโครงการวิจัยภายใต้ธีมงาน “Beyond Disruptive Technology” มาจัดแสดงกว่า 200 โครงการ ยกตัวอย่าง เช่น 1. โครงการ การพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการจัดทำแผนที่ใต้ดินสำหรับการเกษตร ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอกรัฐ บุญภูงา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นการพัฒนาระบบเรดาร์ สำหรับการสร้างแผนที่ใต้พื้นดิน ซึ่งแผนที่นี้จะมีข้อมูลชั้นดินและสิ่งที่อยู่ใต้ดินต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจบริหารจัดการทางการเกษตร ให้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของภาครัฐ "2.เครื่องวิเคราะห์ปริมาณน้ำมันในทะลายปาล์มน้ำมันอย่างรวดเร็วเพื่อการซื้อขายในเชิงพาณิชย์ด้วยเทคนิค Near Infrared (NIR) ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการสร้างระบบและวิธีการในการวิเคราะห์ปริมาณน้ำมันในปาล์มน้ำมัน ด้วยเทคนิค NIR เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์หาปริมาณน้ำมันในผลปาล์มและทะลายปาล์มอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และไม่ทำลายตัวอย่าง ซึ่งสามารถนำมาทดแทนการซื้อขายปาล์มจากการประเมินด้วยผู้เชี่ยวชาญ หรือการประเมินด้วยวิธีมาตรฐานที่ต้องใช้สารเคมี และใช้เวลาในการสกัดน้ำมันค่อนข้างนาน" นายอนันต์ กล่าว ด้าน ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการ สวก. 2562 มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้และวิสัยทัศน์ให้แก่นักวิจัย นักวิชาการ เรื่องทิศทางงานวิจัยด้านการเกษตรของไทยและของต่างประเทศ 2.เพื่อประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลแก่นักวิจัยที่ได้รับทุนจาก สวก. ที่ไปได้รับรางวัลและการยอมรับในระดับนานาชาติ นักวิจัยการเกษตรดีเด่นของ สวก. ในแต่ละคลัสเตอร์ และผู้ประกอบการดีเด่น 3.เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยเด่นในแต่ละคลัสเตอร์ด้านการเกษตรของประเทศ 4.เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานภาพรวมทั้งหมดของ สวก. 5.เพื่อบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดการพัฒนางานวิจัยทางด้านการเกษตรในประเทศไทยกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักวิจัย นักวิชาการ ทั้งที่อยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอยู่ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเกษตร จำนวนกว่า 1,500 คน ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับในรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ในงานประชุมวิชาการ สวก. 2562 จะประกอบด้วย 1) พิธีมอบรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น ผู้ประกอบการดีเด่น และนักเรียนทุนดีเด่น 2) การนำเสนอผลงานวิจัย ทั้งในภาคโปสเตอร์ และภาคบรรยาย (Oral Presentations) 3) การจัดนิทรรศการแสดงผลงานตามพันธกิจของ สวก. ในภาพรวม 4) การจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของ สวก. ในหัวข้อ Disruptive Technology 5) การบรรยายพิเศษและการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การเสวนาในหัวข้อ “Disruptive Technology เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกการเกษตร” โดย ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ที่เกี่ยวกับเรื่องการเกษตรต่างประเทศ ที่จะมาเปิดมุมมองแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ การบรรยายพิเศษ เรื่อง “เกษตรไทยอยู่อย่างไรให้รอดในยุค Disruptive Technology” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรมภาคการเกษตรภายใต้การบริหารงานยุคใหม่” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) “ในวันพุธที่ 9 ตุลาคม 2562 พบกับ การบรรยายพิเศษ เรื่อง ความเข้มแข็งของ สวก. ในการบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตร โดยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร การนำเสนอผลงานวิจัย ภาคบรรยาย (Oral Presentations) จำนวน 24 ผลงาน โดยแบ่งเป็น 3 ห้องย่อย ห้องละ 8 ผลงาน ได้แก่ ห้องที่ 1 นวัตกรรมและเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ห้องที่ 2 สนับสนุนงานวิจัยฐานราก ห้องที่ 3 เศรษฐกิจภาคการเกษตรเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมในห้องย่อยที่ 4 ห้อง เกษตรสร้างสรรค์ ก้าวล้ำนำเทคโนโลยี พบกับ การเสวนาในหัวข้อ “ค้นพบความสำเร็จ กับผู้นำด้านการเกษตร” การเสวนา หัวข้อ “เปิดมุมมองใหม่ สร้างงานวิจัยด้านการเกษตร” การบรรยายเรื่อง “การสนับสนุนทุนพัฒนาบุคลากรวิจัย” และการบรรยายเรื่อง “ระบบศูนย์กลางข้อมูลงานวิจัยการเกษตรของประเทศ - TARR” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าว +++++++++++++