คลังห่วงเฟดลดดอกเบี้ยมีส่วนกดบาทแข็งยิ่งกระทบส่งออก หวังแบงก์ชาติดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับประเทศคู่แข่ง โยน กนง.ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ เผยปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเอาอยู่ไม่ห่วง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75%-2.00% เป็นเรื่องที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และตลาดยังมองว่าปีนี้เฟดมีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ต้องนำไปประเมินว่าจะมีผลกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านของเสถียรภาพและการเติบโตอย่างไร ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงการคลังยอมรับว่า มีความกังวลต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด เพราะจะมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าได้อีก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยที่ปัจจุบันไม่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมองว่าเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นได้ แต่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศคู่แข่ง สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย เป็นหน้าที่ของ กนง.ที่ต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เต็มศักยภาพ สำหรับผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นจึงเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพียงเล็กน้อย ซึ่ง สศค.ได้คาดการณ์ไว้ว่าราคาน้ำมันตลาดในโลกของปีนี้เฉลี่ยแล้วยังสูงกว่าราคาในปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่เป็นห่วงในเรื่องนี้ ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 78% ของ GDP ซึ่งเมื่อตัดหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อการทำธุรกิจ 12-13% ออกไปจะทำให้หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงอยู่ที่ระดับ 65% ของ GDP ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก และไม่มีความน่าเป็นห่วง เพราะหนี้เสียของหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 3% ถือเป็นระดับปกติของหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน ไม่ได้มีนัยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการที่ ธปท.ออกมาตรการก็อาจเห็นสัญญาณบางอย่างที่จำเป็นต้องมีมาตรการบางเรื่องออกมาดูแล