ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย การปลดนายจอหน์ โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์กันว่าสหรัฐฯคงจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวของตนลงมาบ้างไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพราะนายโบลตันถือเป็นพวกที่มีแนวคิดสายเหยี่ยวตัวพ่อทีเดียว ในประวัติของเขานายโบลตันมีส่วนสนับสนุนประธานาธิบดีบุชให้ถล่มอิรักด้วยข้อมูลเท็จที่กล่าวหาว่าชัดดัมมีอาวุธมหาประลัย ต่อมาแม้ไม่โดยตรงก็สนับสนุนให้ถล่มซีเรียและลิเบีย ครั้นมาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติในรัฐบาลทรัมป์โบลตันก็เสนอให้ถล่มเกาหลีเหนือและอิหร่าน และยุยงให้ประธานาธิบดีทรัมป์ส่งคนไปช่วยก่อการรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐบาลนายมาดูโร แห่งเวเนซุเอลา ดังนั้นเมื่อนายโบลตันถูกปลดหลายฝ่ายก็เชื่อว่าสหรัฐฯคงจะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศให้อ่อนลง ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปจะพบว่ายุทธศาสตร์ชาติอันเป็นตัวกำหนดนโยบายของสหรัฐฯนั้นกำหนดโดยข้าราชการประจำ ซึ่งกำหนดแนวทางในระยะยาว ส่วนทรัมป์นั้นโดยเนื้อแท้ไม่มียุทธศาสตร์อะไร นอกจากแนวคิดเรื่อง “อเมริกาต้องมาก่อน” กับ “อเมริกาต้องยิ่งใหญ่อีกครั้ง” และที่ทรัมป์ต้องขัดแย้งกับโบลตันก็ไม่ใช่เรื่องยุทธศาสตร์แต่เป็นเรื่องยุทธวิธี (Tactic) ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ (Strategy) กล่าวคือโบลตันนิยมให้ใช้วิธีการทางทหาร แต่ทรัมป์ ซึ่งเป็นพ่อค้านิยมการใช้การค้าเป็นอาวุธและหวังผลคะแนนเสียงเท่านั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อโบลตันเสนอให้บอมบ์เกาหลีเหนือ แต่ทรัมป์กลับเดินทางไปพบคิมจองอึนในดินแดนเกาหลีเหนือเพื่อสร้างภาพว่าเขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่บุกเข้าไปในเกาหลีเหนือ ครั้นเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธทรัมป์ก็ทำเฉยๆเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เต้นเป็นเจ้าเข้า โบลตันคัดค้านการถอนทหารจากอาฟกานิสถานแม้บางส่วนด้วยการจะเปิดเจรจากับตาลีบันที่แคมป์เดวิดของทรัมป์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ทั้งสองคนต้องแยกทางกัน แต่ก็ไม่ทำให้สหรัฐฯเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์และนโยบายของตน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่จะทำทุกวิถีทางในการกำจัดคู่แข่งอย่างจีนและรัสเซีย จัดการกับพวกที่ขึ้นมาท้าทายพลังอำนาจของสหรัฐฯอย่างอิหร่าน ซีเรีย และเกาหลีเหนือ มุมมองทางด้านเศรษฐกิจการใช้วิธีการแซงชั่นหรือสร้างข้อจำกัดทางการค้า การเขาควบคุมหรือยึดครองทรัพย์สินของต่างชาติทั้งในประเทศ และในประเทศพันธมิตรล้วนแล้วแต่แสดงถึงความอ่อนแอของพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพราะมันไม่เพียงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯโดยตรง ตลอดจนผลกระทบต่อบริษัทของตนเองที่ไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างการเปิดสงครามการค้ากับจีน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย การถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯมิได้เกิดเพียงปีสองปี หากเราพิจารณาตั้งแต่ปีค.ศ.2000 ความเหนือกว่าของสหรัฐฯที่มีต่อจีนในรูปของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ) มีประมาณ 3 เท่า แต่มาถึงปัจจุบันจีนเกินหน้าสหรัฐฯไปแล้วประมาณ 25% ในรูปของ GDP และอำนาจซื้อโดยเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity) ในการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เชื่อกันว่าในปีค.ศ.2050 จีนจะมีขนาดทางเศรษฐกิจเป็น 2 เท่าสหรัฐฯ แม้ในปัจจุบันจีนก็เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยจีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯไว้ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้จีนกุมสภาพที่จะสั่นคลอนเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ไม่ยาก ดังนั้นสหรัฐฯโดยการสนับสนุนของพันธมิตรยุโรปบางประเทศ จึงมิได้ทำเพียงการพยายามเร่งรัดการพัฒนาประเทศแต่ก็พยายามบั่นทอนคู่แข่งขันทั้งจีน และรัสเซีย ซึ่งนอกจากจะเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นคู่แข่งทางการทหารและการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย แม้แต่ประเทศเล็กๆ อย่างเวเนซุเอลา ซีเรีย และอิหร่านที่เป็นเสาหลักในตะวันออกกลาง ต่างก็ต้องถูกสหรัฐฯบีบคั้น ทั้งทางเศรษฐกิจ การทหารและการเมืองระหว่างประเทศเพราะเป็นผู้ขัดผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่ยิ่งสหรัฐฯแสดงอำนาจบาตรใหญ่ เท่าไรก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯในฐานะที่เคยเป็นมหาอำนาจที่มีคุณธรรมยิ่งเสื่อมถอยลงไป โดยเฉพาะสหรัฐฯเคยเป็นผู้นำในการทำการค้าเสรีระหว่างประเทศ ปัจจุบันสหรัฐฯกลับทำทุกอย่างสวนทางกับกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงการค้าภายใต้ WTO ด้านการเมืองระหว่างประเทศยิ่งสหรัฐฯสนับสนุนอิสราเอล ซึ่งได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและมติของที่ประชุมใหญ่ องค์การสหประชาชาตินับครั้งไม่ถ้วนก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯเสื่อมลง ล่าสุดนายเนทันยาฮูก็ได้หาเสียงว่าหากได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง จะผนวกดินแดนเวสแบงก์ของปาเลสไตน์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล อย่างนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่า มันถูกต้องทำนองคลองธรรมหรือไม่ มันขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและมติขององค์การสหประชาชาติหรือไม่ หากอิสราเอลต้องการสันติภาพที่ยั่งยืน สมควรที่จะทำเยี่ยงนี้หรือไม่ ยิ่งสหรัฐฯให้การสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงก็ยิ่งทำให้สหรัฐฯเสื่อมเสียทางด้านคุณธรรม และค่านิยมลงอีกมาก ส่วนอิสราเอลหากต้องการความสนับสนุนจากนานาชาติอย่างแท้จริง ก็ต้องแคร์ความรู้สึกของประชาคมระหว่างประเทศบ้าง ที่ผ่านมาไม่เห็นเคยแคร์ สำหรับประเทศไทยการคาดหวังว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯจะผ่อนปรนลงคงเป็นการประเมินที่ผิดพลาด แต่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯจะบรรจุเป้าหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ ถ้าจะยึดหลักอเมริกาต้องมาก่อนไทยก็ควรยึดหลักไทยต้องมาก่อนบ้าง ในฐานะที่เราก็เป็นประเทศเอกราชที่มีบูรณภาพในดินแดน และต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศไทยและประเทศทั้งหลายในอาเซียนก็คือ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิค ของสหรัฐฯซึ่งเป็นแนวคิดการปิดล้อม ยุทธศาสตร์ความริเริ่มเส้นทางสายไหม(BRI) ของจีน หากสหรัฐฯจะประสบความสำเร็จก็คงต้องรู้จักให้มากกว่าการแสดงอำนาจแบบนักเลงโต และคิดแต่อเมริกาต้องมาก่อน ล่าสุดก็มีข่าวทำนองว่าสหรัฐฯอาจตัดสินใจถล่มอิหร่าน ด้วยข้อกล่าวหาว่าอิหร่านส่งโดรนไปถล่มคลังน้ำมันและแหล่งผลิตน้ำมัน 2 แห่ง ในซาอุดิอารเบีย ทั้งที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลยเหมือนตอนถล่มอิรัก หากเป็นจริงทั่วโลกก็จะเดือดร้อนแน่ เพราะอิหร่านคงเอาคืนด้วยการถล่มการลำเลียงน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อซัพลายน้ำมันของโลกถึง 40% ทีเดียว