นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำแถลงข่าว "อิ่มบุญ อิ่มใจ กินเจปลอดภัย" ซึ่งปีนี้เริ่มตั้งแต่ 28 ก.ย.-7 ต.ค.62 โดยกล่าวว่า อาหารเจซึ่งเป็นพืชผักจะย่อยง่าย ช่วยระบบขับถ่าย ช่วยลดคอเลสเตอรอลควบคุมน้ำตาลในเลือด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันเฝ้าระวังอาหารที่จำหน่าย ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบกรมอนามัย กล่าวว่า ควรเสริมโปรตีนด้วยอาหารที่มีถั่วหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เน้นข้าวกล้อง มีผักประกอบ เช่น ลาบเต้าหู้ น้ำพริกเจผักเคียง ต้มจืดเจ ต้มยำเจ อาหารต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ยำ น้ำพริกที่ไม่ผัดน้ำมัน แกงไม่ใส่กะทิ เลี่ยงอาหารผัดน้ำมันเยิ้ม ทอด ลด หวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากที่เฝ้าระวังช่วงกินเจ ตั้งแต่ปี 56 ถึงปัจจุบัน พบกลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ตรวจพบ DNA ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อนคิดเป็นร้อยละ 8.3 กลุ่มผักดองตรวจพบวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิคเกินมาตรฐานร้อยละ 53.3 กลุ่มอาหารประเภทเส้นพบวัตถุกันเสียกรดซอร์บิค 31.3 และพบสีอินทรีย์สังเคราะห์ในเส้นหมี่ซัว ร้อยละ 38.5 ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารเส้น นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯกล่าวว่า ช่วงกินเจ แนะให้รับประทานพืชสมุนไพร 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 พืชสมุนไพรที่กินง่าย ช่วยให้อยู่ท้อง ได้แก่ กล้วยน้ำว้าสุก ธัญพืช มันเทศ ข้าวโพดหวาน กลุ่มที่ 2 พืชสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ แก้ท้องอืด เฟ้อ ได้แก่ ขิง พริกไทย กลุ่มที่ 3 พืชสมุนไพรที่ช่วยป้องกันความดัน เบาหวานขึ้น เช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำดอกคำฝอย น้ำตะไคร้ น้ำตรีผลา เลือกใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักฯเพื่อดูแลอาการที่ไม่พึงประสงค์จากภาวะกินเจ คืออาหารไม่ย่อย ท้องอืดเฟ้อ ท้องเสีย เช่น ยาขมิ้นชัน ยามะระขี้นก ยาเหลืองปิดสมุทร