พาณิชย์ เผยยอดส่งออกปี 60 โต 8.8% มีมูลค่า 17,099 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 หลังสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกของประเทศในเดือนม.ค. 2560 มีมูลค่า 17,099 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู้ค่าสำคัญต่างปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกสำคัญของไทยยังขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาด ยกเว้น ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และแอฟริกา สำหรับการส่งออกไปยังตลากหลัก เพิ่มทุกตลาด ยอดการส่งออกตลาดสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.5 ญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 6.4 และสหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 10.4 ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 53.4 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล สูงขึ้นถึงร้อยละ 98 เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 62.5 ราคาตลาดโลกสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยส่งออกไปจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 48.8 ส่งออกไปสหรัฐฯ เวียดนาม และจีน ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 8.6 ส่งออกไปญี่ปุ่น ลาว และเกาหลีใต้ ในขณะที่ สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังคงหดตัว ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ลดลงร้อยละ 20.2 11.1 และร้อยละ 13.3 ตามลำดับ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 4.0 ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญที่ยังคงหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ราคาสูงที่สุดในรอบ 3 เดือน แต่ปริมาณส่งออกลด และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ลดลงร้อยละ 26.3 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ทองคำ ขยายตัวร้อยละ 157.6 ส่งออกไปสิงคโปร์ กัมพูชา และฮ่องกงเครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 30.1 ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 8.6 ส่งออกไปตลาดฮ่องกง จีน และสหรัฐฯน้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 48.3 ส่งออกไปตลาดสิงคโปร์ จีน และเวียดนา ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 1.5 ส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 28.2 ส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัวมาก ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณี เครื่องประดับไม่รวมทอง ลดลงร้อยละ 5.9 6.4 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ ขณะที่ การนำเข้า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีมูลค่า 16,273 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.17 ส่งผลให้ดุลการค้า ในเดือนมกราคม 2560 ไทยเกินดุล 826 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 นับตั้งแต่พ.ค.58 อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้ จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.5 หรือมีมูลค่า เฉลี่ยเดือนละ 18,572 ล้านเหรียญสหรัฐอย่างแน่นอน ส่วนเป้าหมายของรัฐบาลที่มอบหมายที่ร้อยละ 5 ก็จะพยายามผลักดันให้เต็มที่ ทั้งนี้หากยอดร้อยละ 5 ต้องมียอดส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 18,841 ล้านเหรียญสหรัฐ