“วิษณุ”ชี้ถวายสัตย์เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ย้ำครม. ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ “วันนอร์” ซัดพูดความจริงไม่หมด วันที่ 18 ก.ย. เวลา 16.55 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธาน ทางนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ในญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา152ว่า ประเด็นของการถวายสัตย์ปฏิญาณ คือใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร แต่บางคนอาจไม่เข้าใจตนขอลำดับความว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 หลังจากทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. รวม 36 คน ต้องเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์พระมหากษัตริย์ตามถ้อยคำก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ทั้งนี้ในวันดังกล่าวมีผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้าราชการ และผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เข้าร่วมในพิธี “นายกฯ ได้ล้วงหยิบเอาบัตรแข็งออกจากกระเป๋า ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเดียวเหมือนกับนายกฯที่ผ่านมาในอดีต ไม่ได้สลับ หรือเปลี่ยน บัตรแข็งที่หยิบ เป็นกระดาษที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เตรียมไว้ เหมือนกับที่เตรียมไว้ให้นายกฯทุกคนในอดีต แต่มีนายกฯ คนเดียวที่จำแม่น ไม่เคยหยิบ คือ นายชวน หลีกภัย แต่นายกฯ คนอื่นกลัวพลาดต้องหยิบล้วงจากกระเป๋าเสื้อ เหมือนกับพล.อ.ประยุทธ์ ในกระดาษนั้นหน้าแรก คือ คำเบิกตัว และหน้าสอง เป็นคำถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยทุกคนกล่าวตามไปทีละท่อน จนจบตามที่นายกฯ กล่าว ผมบอกไม่ได้ว่าถ้อยคำที่นายกฯอ่านและคนกล่าวตามมีว่าอย่างไร ไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังที่อ่านไปตามนั้นและแค่นั้นเป็นเพราะเหตุใด”นายวิษณุ กล่าว นายวิษณุ ชี้แจงว่า ตนขออธิบายรวมว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ เพื่อยืนยันต่อความไว้วางใจต่อตัวผู้กล่าวนำคำปฏิญาณตนนั้น คือ พระมหากษัตริย์ไว้วางใจ ในตัวรัฐมนตรีที่กล่าว ที่บอกว่า นายกฯ หรือตนอาจจะผิด แต่เข้าใจในเจตนารมณ์ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เช่นนั้น แต่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง หน้าที่2 บรรทัดที่3 ดังนั้นการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ครม. และ พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้อาจมีบุคคลโต้แย้งว่า ทำไมบังอาจทำให้ไม่เหมือนที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ อย่างไรก็ตามการถวายสัตย์ปฏิญาณต้องมีผู้รับถวาย ทั้งนี้ตนอดคิดไม่ได้ว่าไม่มีใครมีสิทธิเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนั้น ใครจะอนุญาต ทั้งนี้หลังจากกล่าวคำถวายสัตย์ มีพระราชดำรัสตอบ และมีสาระสำคัญคือให้ไปปฏิบัติหน้าที่ได้ “การถวาสัตย์ปฏิญาณผมขอขีดเส้นใต้ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณหรือสาบาน รัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ที่เริ่มตั้งแต่ ฉบับปี 2492 จนถึงปัจจุบัน ตามความหมายนั้นจงใจแยกคำ คือ ปฏิญาณตน และ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่มีความมุ่งหมายต่างกัน กล่าวคือ ส.ส.กล่าวปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ แต่ ครม. ไม่ได้ปฏิญาณตน แต่ใช้วิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ ระบุถึงการปฏิญาณตน ใช้กับบุคคล 3 ประเภท คือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องปฏิญาณตนต่อที่ประชุมรัฐสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา ในที่ประชุม หลายคนพูดถึงนายบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวสาบานตนไม่ครบ แล้ววันรุ่งขึ้นได้กล่าวใหม่ แต่เมื่อสืบค้นให้นานกว่านั้น สมัยนายริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวสาบานไม่ครบ แต่ไม่ได้ทำอะไร”รองนายกฯ กล่าว นายวิษณุ ชี้แจงด้วยว่า หลายคนวิตกกังวลว่าหากทำไม่ถูก จะโมฆะ อย่าฝันร้าย เพราะไม่มีเหตุที่เกิด ไม่ทีปัญหาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ไม่รับคำร้องทั้งหมด และให้เหตุผลตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาความของศาลฯ ระบุไว้ คือ เป็นความเห็นเอกฉันท์ของศาลไม่รับ เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง และเมื่อจบการถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระมหากษัตริย์พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้ ครม. น้อมนำเป็นแนวทางทำงาน และต่อมาครม. ได้เข้ารับพระราชดำรัสที่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณจึงไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ซึ่งสภาฯ คือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่นกัน ทั้งนี้ นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงว่า ต้องการถามทำไมถึงถวายสัตย์ไม่ครบ ไม่ใช่ให้รองนายกฯ มาสอนกฎหมาย ตอบให้ตรงด้วย จึงไม่มีอะไรวิตกแล้วใครบอก จึงดำเนินการไปตามปกติ และเดินหน้าทำงานไปตามคำที่พระองค์ให้พรมา ด้าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ลุกขึ้นประท้วงนายวิษณุพาดพิงว่า ประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบถือว่าครม. ผิดมาตรฐานจริยธรรม ยืนยันว่าเป็นความจริง ขอให้ไปอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเรื่องจริยธรรมทั้งหมด แต่ในประมวลจริยธรรม จะไปออกเวทีที่ไหนก็ได้ เพราะตนอาจจะรู้ไม่หมดแต่เป็นความจริง แต่ท่านรู้จริงแต่พูดความจริงไม่หมด ขณะที่ นายวิษณุ ชี้แจงต่อว่า ตนอาจจะผิดก็ได้ แต่มาตรฐานจริยธรรมไม่ใช่ได้กับนักการเมือง ซึ่งมี 2 ฉบับ แต่ถ้าเห็นว่ามีความผิดก็สามารถไปร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้รัฐบาลมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยกำลังใจและมุ่งมั่นปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์และพรที่ได้พระราชทาน