"กสศ."จับมือ 73 หน่วยพัฒนาอาชีพทั่วประเทศ ใช้ชุมชนเป็นฐาน สร้างระบบต้นแบบยกระดับทักษะอาชีพแรงงานยากจน ด้อยโอกาส ให้เป็นแรงงานฝีมือ เป็นผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพของชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง แก้เหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง ตั้งเป้าปีแรกช่วยเหลือมากกว่า 6 พันคน ใน 42 จังหวัด เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 62 ที่อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และด้อยโอกาส โดยมีเครือข่ายหน่วยพัฒนาอาชีพ ยกระดับอาชีพแรงงานยากจน ด้อยโอกาส จำนวน 73 แห่งจากทั่วประเทศเข้าร่วม ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กสศ. และที่ปรึกษาคณะกรรมการ กสศ. กล่าวว่า กสศ.ร่วมกับเครือข่ายหน่วยพัฒนาอาชีพ จำนวน 73 แห่ง อาทิ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัย ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ปราชญ์ กศน.อำเภอ วิสาหกิจชุมชน ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาระบบตัวอย่างการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยมีชุมชนเป็นฐาน มุ่งยกระดับฝีมือแรงงานระดับ 1.0 และ 2.0 ไม่จำกัดอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีรายได้ต่ำกว่า 6,500 บาท รวมถึงผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ที่ว่างงาน คนพิการ คนเร่ร่อน เยาวชนในสถานพินิจ ผู้ต้องขัง ที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม หัตถกรรม เน้นการใช้แรงงานหนักและราคาถูก ให้มีทักษะสูงขึ้น มีงานทำ มีโมเดลธุรกิจของตัวเอง มีรายได้สูงขึ้น โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการระดับตำบลหรือเทศบาลจำนวนกว่า 76 ตำบล ใน 42 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค ในปีแรกจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 6,239 คน ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า หน่วยพัฒนาอาชีพทั้ง 73 แห่งจะออกแบบระบบพัฒนาทักษะแรงงานยากจน ด้อยโอกาส ที่เน้น 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การใช้ชุมชนเป็นฐาน (community-based) เพื่อยกระดับการประกอบอาชีพ มีการวิเคราะห์ทุนชุมชน จุดแข็ง จุดอ่อน ทำ Social Mapping เพื่อกำหนดแผนธุรกิจและแผนกำลังคนที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่น 2.การพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ/แรงงานฝีมือในชุมชน ผ่านหลักสูตรระยะสั้น 100-200 ชั่วโมง ครอบคลุมด้านทักษะอาชีพโดยปฏิบัติงานจริงในชุมชนหรือสถานประกอบการ ทักษะการบริหารจัดการสำหรับศตวรรษที่ 21 และทักษะชีวิตด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน 3.การเสริมสร้างสมรรถนะแก่ชุมชนและภาคเอกชน โดยจะส่งเสริมบทบาทในการเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนา "รัฐบาลบอกประเทศต้องก้าวไปสู่ 4.0 แต่คนของเรากว่า 16.1 ล้านคน ยังเป็น 1.0 หรือ 2.0 ได้รับการศึกษาครึ่งๆ กลางๆ จบมัธยมต้นหรือต่ำกว่า ถูกทอดทิ้งให้เป็นแรงงานนอกระบบ คนว่างงาน คนพิการ สุดท้ายกลายเป็นภาระชุมชน สังคม ถูกตีตราเป็นคนด้อยโอกาส โครงการนี้จะช่วยให้โอกาสคนกลุ่มนี้ได้มีตัวตน มีที่ยืนในสังคม รอดพ้นจากวิกฤตชีวิต ที่ผ่านมาระบบทุนนิยมดึงลูกหลาน เราออกจากชุมชนทุกวัน ชุมชนอ่อนแอลงตามลำดับ ช่องว่างในประเทศมากขึ้นทุกวัน ความเหลื่อมล้ำเป็นผลพวงจากเรื่องนี้ การแก้ไขต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศ และตัดวงจรความเหลื่อมล้ำข้ามชั่วคนได้" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว ที่ปรึกษา กสศ. กล่าวอีกว่า เครือข่ายหน่วยพัฒนาอาชีพทั้ง 73 แห่ง จะจับคู่กับชุมชนดำเนินงานยกระดับทักษะการประกอบอาชีพให้กับแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ซึ่งธุรกิจชุมชนเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญที่สุดในพื้นที่ชนบท โครงการจะส่งเสริมให้ชุมชนและสถานประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เกิดเป็นเครือข่ายจับคู่การพัฒนา เช่น การร่วมเป็นวิทยากร การใช้สถานที่ฝึกงาน และการสมทบทรัพยากรในรูปแบบที่เป็นไปได้ มุ่งเน้นกระบวนการเสริมศักยภาพของชุมชนในการพัฒนาอาชีพ บนฐานข้อมูล ความรู้ ทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากร สร้าง Creative Space ที่มีการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และทุนทางสังคมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ มุ่งเป้าตรงตามความต้องการของชุมชนหรือตลาดแรงงานท้องถิ่นร่วมไปกับการสร้างพื้นฐานทักษะอาชีพในฐานะผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ขนาดย่อมในชุมชน "ทั้ง 73 โครงการ จะเป็นโมเดลหรือระบบต้นแบบสำคัญของประเทศ ในการยกระดับแรงงาน 1.0 หรือ 2.0 ให้เป็นแรงงานมีฝีมือ เป็นผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของชุมชน ผมคิดว่าเรื่องนี้ กสศ.มาถูกทาง โครงการนี้ตอบโจทย์สำคัญของประเทศในการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 ที่ยั่งยืนมีชุมชนเป็นฐาน แก้เหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง และไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ชุมชนจะรองรับได้" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว นายชาญ อุทธิยะ ปราชญ์ชาวบ้านภาคเหนือ บ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องเน้นสร้างฐานให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และจำเป็นต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วม ช่วยกันมองปัญหา ช่วยกันคิด ต้องทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าในการพัฒนากลุ่มคนด้อยโอกาสให้ได้รับการช่วยเหลือ ฝึกฝนพัฒนาอาชีพอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ตัวอย่างเช่น ในชุมชนตอนนี้ เรามีทุนเดิมเป็นทรัพยากรธรรมชาติ มีวัตถุดิบที่อยู่ในชุมชน ดังนั้นเราต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว จนกระทั่งติดตลาด มีอาชีพเสริม มีเงินเก็บออม ถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญาสู่การพัฒนาทรัพยากร พัฒนาอาชีพแบบยั่งยืน.