สมาคมธนาคารไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลให้กับคนไทย เดินหน้าสานต่อโครงการ “คนรุ่นใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน ซีซั่น 2” โดยทุกธนาคารร่วมมือกันส่งอาสาสมัครที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมทางการเงินของประเทศไทยให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น วางเป้าหมายปีนี้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินในรูปแบบใหม่ Learning by Gaming ให้กับนิสิต นักศึกษา ในรั้วมหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่คนรุ่นใหม่ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือช่วยทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายและง่ายดายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ส่งผลในด้านพฤติกรรมทางการเงินที่ใช้จ่ายเกินตัวของคนรุ่นใหม่ โดยจากข้อมูลทางสถิติพบว่ามีการสร้างหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยและส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภคมากกว่าหนี้เพื่อการสร้างสินทรัพย์ และมีมากกว่า 1 ใน 5 หรือราว 20% ที่กลายเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ หากมองย้อนหลังไปช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 7% ขณะที่อัตราการออมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 3% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังขาดวินัยการออม ขาดความระมัดระวัง ในการบริหารเงินส่วนบุคคล โดยคนไทยมากกว่า 50% มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เพราะขาดการวางแผนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ สมาคมธนาคารไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดให้การส่งเสริมความรู้ทางการเงินในภาคประชาชน เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของสมาคมฯ นอกจากความร่วมมือในโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แก้ไขปัญหาทางการเงินในปีที่ผ่านมา โดยได้ริเริ่มโครงการ “คนไทยยุคใหม่...ใส่ใจเรื่องเงิน” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ใกล้จบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย และกำลังก้าวเข้าสู่วัยเริ่มต้นทำงาน เพื่อต้องการสร้างสังคมที่มั่นคง สังคมที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง โครงการดังกล่าว เปิดโอกาสให้ธนาคารสมาชิกร่วมมือกันส่งอาสาสมัคร ซึ่งเป็นพนักงานของแต่ละธนาคารเข้าร่วมฝึกอบรมในการเป็นวิทยากรจิตอาสา (The Trainer) เพื่อสร้างความพร้อมและการส่งต่อความรู้ทางการเงินที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการออกไปลงพื้นที่ให้ความรู้แก่น้องๆ นักศึกษา โดยในปีนี้ได้ดำเนินโครงการฯ มาเป็นปีที่ 2 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานโครงการ “คนรุ่นใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน” และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยได้ตระหนักถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมองว่าแนวทางการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เพียงอย่างเดียวนั้นคงยังไม่เพียงพอ แนวทางการป้องกันการเกิดปัญหาก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน จึงได้ริเริ่มโครงการถ่ายทอดความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลให้กับประชาชน โดยเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังหลักของประเทศในอนาคต “แม้ว่าปัจจุบัน มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการให้ความรู้ทางการเงิน แก่บุคคลทั่วไปอยู่เป็นจำนวนมาก แต่การจะทำโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนขนาดใหญ่ได้อย่างทั่วประเทศ มีเพียงสมาคมธนาคารไทยเท่านั้น ที่มีศักยภาพสามารถทำได้ ด้วยจำนวนสาขาและพนักงานกว่า 1 แสนคน และสาขาจำนวนมากของธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ เกือบ 1 หมื่นสาขา และมีเครือข่ายในทุกจังหวัดนั้น โดยปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน และ ปัญหาการขาดความรู้ทางการเงินของคนไทย ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของทุกธนาคารในสังคมปัจจุบัน” สำหรับโครงการ “คนรุ่นใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน” ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 โดยปีที่ผ่านมา ถือเป็นโครงการนำร่องขนาดใหญ่ที่เริ่มต้นด้วยการมี The Trainer จำนวน 550 คน มาร่วมกิจกรรมลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลให้กับนิสิต นักศึกษาจำนวน 2,300 คน ในรั้วมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชนในกรุงเทพฯ รวม 8 แห่ง และในปี 2562 นี้โครงการจะขยายออกไปกว้างมากขึ้นสู่ระดับภูมิภาค โดยมี The Trainer เพิ่มขึ้นเป็น 643 คน ซึ่งจะออกไปลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 20 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับน้องๆ นักศึกษามากกว่า 10,000 คน ก่อนออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ชีวิตในวัยเริ่มต้นทำงาน “ผมเชื่อว่าบรรดาอาสาสมัคร หรือเหล่า The Trainer ที่มาจากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง จะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างแรงกระเพื่อม (Ripple Effect) ให้กับสังคมไทย เพื่อสร้างสังคมไทยที่มีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง เป็นสังคมที่มีความมั่นคง คือเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ที่จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต” นายปิติ กล่าว ด้าน ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าโครงการ “คนรุ่นใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน” และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีนั้น ไม่ได้มีศักยภาพด้อยไปกว่าคนรุ่นก่อนๆ แต่พวกเขามีสิ่งกระตุ้นซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่แตกต่างจากคนยุคก่อน ทำให้การตัดสินใจใช้เงินเป็นเรื่องของอารมณ์ มากกว่าเหตุผล และขาดการยับยั้งชั่งใจ รวมไปถึงการถูกสิ่งเร้าจากสื่อโซเชียลรอบตัว วัยเริ่มต้นทำงาน สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น จึงทำให้มีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด เนื่องจากไม่มีความรู้ทางการเงินเพียงพอในการบริหารจัดการชีวิตเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนในกรณีฉุกเฉิน “เป้าหมายของโครงการก็คือ ให้พวกเขาได้ตระหนักรู้ในเรื่องการเงิน โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและเข้าสู่ตลาดแรงงานไปจนถึงวัย 30 ปี หัวใจสำคัญคือ ในช่วง 10 ปีแรกของการทำงาน ต้องการให้ พวกเขาประสบความสำเร็จในการบริหารเงินของตนเองได้ รู้จักในเรื่องการบริหารรายรับ รายจ่าย และเงินออม รวมถึงรู้จักรับผิดชอบในการชำระและบริหารหนี้สินของตนเองได้” “รูปแบบของการจัดกิจกรรม ยังเป็นอีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก เนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน เน้นเรื่อง ระบบ Active Learning หรือการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เราจึงได้พัฒนาการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกม (Learning by Gaming) ที่สร้างความสนุกสนานพร้อมสอดแทรกสาระความรู้ในการใช้ชีวิต การใช้จ่าย และได้เรียนรู้เทคนิคการบริหารจัดการเงินของตนเอง ผ่านการเล่นเกมที่เราออกแบบมาเพื่อทำให้เรื่องการเงินที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเครียดๆ กลายเป็นความสนุกสนาน ซึ่งเป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการให้ผู้เรียน สอบให้ผ่านและได้คะแนน แต่เพื่อให้พวกเขามีเทคนิคในการบริหารจัดการเงิน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ในชีวิตประจำวัน ด้วยกิจกรรมที่สนุกสนาน และ เข้าใจง่าย” ดร.เบญจรงค์ กล่าวปิดท้ายว่า ปีนี้เราตั้งใจส่งอาสาสมัครไปลงพื้นที่โดยขยายออกไปทั่วประเทศ ด้วยเป้าหมายจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 10,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากปีก่อน แต่หากเทียบกับจำนวนนักศึกษาจบใหม่ ในแต่ละปีจำนวนกว่า 200,000 คน จึงถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อย หากเราสามารถทำโครงการนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยยกระดับพื้นฐานความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลของคนไทยในภาพรวมให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น และหวังว่าอัตราหนี้เสียของคนไทยในแต่ละปีจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง